หัวใจโต (Cardiomegaly)

ความหมาย หัวใจโต (Cardiomegaly)

หัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจหอบ หรืออ่อนเพลีย จนอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิตอย่างหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยหัวใจโตส่วนใหญ่มักได้รับการรักษาในระยะยาวโดยการใช้ยา

ภาวะหัวใจโตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในระดับมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีไขมันอุดตันในหลอดเลือด จนไปปิดกั้นเลือดไม่ให้สามารถไหลผ่านหลอดเลือดหัวใจได้ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยด้วยภาวะหัวใจโตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติด้วย

หัวใจโต

อาการของภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตมักไม่มีอาการอื่น ๆ ปรากฏร่วม แต่หากภาวะหัวใจโตส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอก็อาจทำให้มีอาการที่แสดงถึงภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา บางรายอาจมีอาการเล็กน้อยต่อเนื่องหลายปี หรือบางรายอาจมีอาการหายใจเหนื่อยหอบแย่ลงเรื่อย ๆ โดยลักษณะอาการที่เกิดขึ้น มีดังนี้

  • หายใจเหนื่อยหอบ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • ขาบวม 
  • ใจสั่น หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

ภาวะหัวใจโตที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถรักษาได้ง่าย ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติรุนแรงอย่างอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบรุนแรง เป็นลม หรือรู้สึกปวดบริเวณหน้าอก แขน หลัง คอ หน้าท้อง หรือกราม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 

สาเหตุของภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก หรือส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือในบางกรณีหัวใจอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรืออ่อนแอลงได้โดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ ภาวะหัวใจโตอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้

  • ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี ส่งผลให้หัวใจห้องล่างซ้ายขยายใหญ่ขึ้น และกล้ามเนื้อหัวใจก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงด้วย
  • โรคลิ้นหัวใจ (Heart Valve Disease) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจห้องต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคไข้รูมาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็งและก่อตัวหนาขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจส่งผลให้หัวใจโตขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานหนักกว่าเดิมในการสูบฉีดเลือด
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังปอดและกลับมาลำบาก ส่งผลให้หัวใจห้องขวาจึงโตขึ้น
  • ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมากผิดปกติ (Pericardial Effusion) เป็นภาวะที่มีการสะสมของของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจมากเกินไป จึงอาจทำให้หัวใจโตขึ้นได้เช่นกัน
  • โรคโลหิตจาง (Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอที่จะนำพาออกซิเจนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเพื่อทดแทนการขาดออกซิเจนในเลือด
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ (Thyroid Disorders) ทั้งภาวะไทรอยด์เป็นพิษและภาวะไทรอยด์ต่ำ อาจเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับหัวใจต่าง ๆ รวมถึงภาวะหัวใจโตด้วย
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กไปใช้ได้ ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจที่มีธาตุเหล็กสะสมอยู่อ่อนแอลง และหัวใจห้องล่างซ้ายขยายใหญ่ขึ้น
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจที่พบได้ยาก เช่น โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) เป้นภาวะที่มีโปรตีนผิดปกติไหลเวียนในเลือด โปรตีนนี้อาจไปสะสมที่หัวใจและขัดขวางการทำงานของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมา

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตยังรวมถึงการติดเชื้อไวรัสบริเวณหัวใจ โรคไตในระยะที่ต้องฟอกไต การตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด การติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงโรคที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมด้วย

การวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติและสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีอาการหายใจเหนื่อยหอบหรืออาการของภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจโตหรือไม่ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกายหาอาการบวมที่อาจบ่งบอกถึงภาวะนี้ รวมทั้งใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจเพื่อตรวจหาความผิดปกติในหัวใจ 

แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการเหล่านี้ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจโตด้วย

  • การตรวจเอกซเรย์บริเวณหน้าอก ถ่ายภาพหัวใจเพื่อดูว่าหัวใจมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) โดยติดขั้วไฟฟ้าเข้ากับผิวหนังเพื่อบันทึกการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้สามารถหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้
  • การตรวจเอคโคคาร์ดิโอแกรม (Echocardiogram) คือการวินิจฉัยด้วยคลื่นความถี่สูง โดยแพทย์จะสามารถตรวจดูขนาด ความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงตรวจการทำงานว่าผิดปกติหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของหัวใจโต เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะติดเชื้อเอชไอวี หรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ การตรวจ MRI และ CT Scan รวมถึงการเจาะชิ้นเนื้อหัวใจเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการด้วย

การรักษาภาวะหัวใจโต

การรักษาภาวะหัวใจโตประกอบไปด้วยการดูแลตัวเอง การรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ มีรายละเอียดดังนี้

1. การรักษาด้วยการดูแลตนเอง

 

ผู้ป่วยภาวะหัวใจโตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม หวาน อาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต ออกกำลังกายอย่างพอดีโดยควรปรึกษาแพทย์ถึงกิจกรรมที่เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนวันละ 8 ชั่วโมง

2. การใช้ด้วยยารักษาโรค

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจโตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาดังนี้

  • ยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยลดปริมาณโซเดียมและน้ำในร่างกาย รวมถึงช่วยให้ระดับความดันในเส้นเลือดและหัวใจลดลง
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ARBs สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE ได้ แพทย์จะให้รับประทานยาชนิดนี้แทน
  • ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและช่วยในการทำงานของหัวใจ
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด ป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมอง
  • ยาต้านการเต้นหัวใจผิดจังหวะ เพื่อช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ

3. การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ

 

การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์อาจเป็นการใช้อุปกรณ์ที่ทำให้หัวใจเต้นปกติ ใช้สำหรับภาวะหัวใจโตบางชนิด โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยประสานการบีบตัวของหัวใจฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง อาจเลือกรักษาโดยใช้ยาหรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวรแทน

เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดถาวรเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ฝังไว้ในอกเพื่อคอยตรวจจับจังหวะของหัวใจและส่งกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปกติเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น และหากเป็นภาวะหัวใจโตที่เกิดจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาเฉพาะเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติด้วย

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่  

  • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ใช้รักษาภาวะหัวใจโตที่มีสาเหตุเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ
  • การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจhttps://www.pobpad.com/บายพาสหัวใจกับเรื่องที ใช้รักษาภาวะหัวใจโตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • การผ่าตัดใส่หัวใจเทียม หรือการใส่เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องล่างซ้าย ใช้รักษาในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยอาจใส่เครื่องมือนี้ระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจ หรืออาจต้องใส่ไว้เป็นระยะเวลานานเพื่อรักษาอาการในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายหากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล แต่จำนวนหัวใจที่ได้รับบริจาคในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอรับบริจาคหัวใจเป็นเวลานาน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหัวใจโต

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโตอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หลายประการ ดังนี้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและขยายใหญ่ขึ้นจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดลิ่มเลือด ภาวะหัวใจโตอาจกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในเยื่อบุหัวใจได้ง่าย และหากลิ่มเลือดเกิดการอุดตันในการไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญ อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคเส้นเลือดในสมองแตกตามมา
  • เสียงฟู่ของหัวใจ ผู้ป่วยภาวะหัวใจโตบางรายอาจพบว่ามีลิ้นหัวใจ 2 อันที่ปิดไม่สนิทเนื่องจากการขยายตัวของหัวใจ ทำให้เกิดการไหลกลับของเลือดซึ่งจะได้ยินเป็นเสียงดังฟู่ตามมา
  • ภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและปอดบวมน้ำ เกิดจากการสะสมของของเหลวในปอดหรือบริเวณช่องว่างระหว่างปอดและผนังหน้าอก ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการหายใจลำบาก
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ภาวะหัวใจโตอาจทำให้การเต้นของหัวใจหยุดชะงักลง และอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้

การป้องกันภาวะหัวใจโต

ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคที่เป็นอาจสาเหตุของภาวะหัวใจโต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจโต เพราะหากสามารถวินิจฉัยโรคที่อาจเป้นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจโตตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจโตได้

นอกจากนี้ ยังควรควบคุมปัจจัยที่อาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น ความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และโรคเบาหวาน เพราะจะช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจโตและหัวใจล้มเหลวตามมาได้ 

ตัวอย่างวิธีการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจโตง่าย ๆ เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงอย่างอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติดทั้งหลาย