ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เป็นยาป้องกันลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดปกติ หรือผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ รวมถึงหลังการผ่าตัดบางชนิด โดยออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการก่อตัวของลิ่มเลือดหรือลดการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างหัวใจ สมอง หรือปอดให้มากขึ้น

ยาต้านการแข็งตัวของเลือดนั้นมีใช้ในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล และยาฉีด โดยตัวยาที่แพทย์มักแนะนำให้ใช้คือ ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาที่อาจใช้รองลงมาก็เช่น ยาไรวาโรซาแบน (Rivaroxaban) ยาดาบิกาทราน (Dabigatran) ยาเอพิซาแบน (Apixaban) ยาอีด็อกซาแบน (Edoxaban) และยาเฮพาริน (Heparin)      

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดต่าง ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางสุขภาพใด ๆ เช่น มีแผลหรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่อาจควบคุมได้ด้วยยารักษา ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด การใช้ยาที่ส่งผลต่อลิ่มเลือด รวมถึงการผ่าตัดครั้งล่าสุดที่เสี่ยงมีเลือดออกต่ำ
  • ผู้ป่วยที่กำลังหรือเพิ่งเผชิญกับการบาดเจ็บ มีเลือดออก หรือผ่าตัด มีประวัติเลือดออกในสมองอย่างโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดโป่งพอง เกล็ดเลือดต่ำ โรคตับในระยะสุดท้าย หรือใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อลิ่มเลือด ไม่ควรใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยานี้มักไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีมีตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวมารดาและเด็ก
  • ระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรม หรือการทำงาน เช่น แปรงฟัน โกนหนวด เย็บผ้า ทำอาหาร หรือเล่นกีฬาบางชนิด โดยพยายามลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุหรือการมีเลือดออกให้ได้มากที่สุด เนื่องจากตัวยาส่งผลให้มีเลือดออกง่ายขึ้น
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแต่ละรูปแบบตามที่ระบุบนฉลากหรือตามคำสั่งของแพทย์และเภสัชกร หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ต่างกันออกไป โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือเลือดออกได้ง่ายขึ้น และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ ท้องเสีย ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบสัญญาณของการมีเลือดออกที่รุนแรงควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็น

  • มีรอยช้ำเพิ่มขึ้นหรือช้ำผิดปกติ 
  • ปัสสาวะมีสีแดงหรือชมพู  
  • อุจจาระปนเลือดหรือคล้ายกากกาแฟ 
  • มีเลือดออกในช่วงที่มีประจำเดือนมากกว่าปกติ 
  • เลือดออกตามไรฟันหรือเลือดกำเดาไหลหายช้า 
  • อาเจียนหรือไอเป็นเลือด  
  • นิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีม่วง
  • ผิวหนังบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า มือ หรือเท้าเปลี่ยนเป็นสีดำ
  • อาการปวดที่รุนแรงอย่างปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือปวดหลัง
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย
  • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก 
  • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ใช้ยาแล้วพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น

ปริมาณการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ชนิดของยา ปริมาณ และระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดต่าง ๆ จะมีดังนี้

1. ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) 

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาฉีด 

ปริมาณการใช้ยาในผู้ใหญ่อาจเริ่มที่ 5–10 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลา 1 หรือ 2 วัน ปริมาณยาต่อเนื่องสำหรับยาชนิดเม็ดจะอยู่ที่ 3–9 มิลลิกรัม/วัน ส่วนยาชนิดฉีดจะอยู่ที่ 2–10 มิลลิกรัม/วัน ตามที่แพทย์แนะนำ

2. ยาเฮพาริน (Heparin)

รูปแบบยา : ยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาเฮพาริน

3. ยาดาบิกาทราน (Dabigatran)

รูปแบบยา : ยาแคปซูล

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาดาบิกาทราน 

4. ยาไรวาโรซาแบน (Rivaroxaban)

รูปแบบยา : ยาเม็ด 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไรวาโรซาแบน 

5. ยาเอพิซาแบน (Apixaban) 

รูปแบบยา : ยาเม็ด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาเอพิซาแบน