หัวโต

ความหมาย หัวโต

หัวโต (Hydrocephalus from Birth) หรือ ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำในเด็กแรกเกิด อาจเกิดจากความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง หรือเกิดการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม ทำให้เด็กที่เกิดมามีน้ำในสมองมากเกินไป จนมีขนาดหัวโตผิดปกติ ส่งผลให้สมองถูกทำลาย และอาจเกิดความเสียหายอย่างถาวร

หัวโต

อาการหัวโต

เด็กที่หัวโตแต่กำเนิด มักมีลักษณะทางกายภาพที่เด่นชัด ดังนี้

  • หัวโตผิดปกติ และขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • กระหม่อมโป่งและตึง
  • หนังศีรษะบาง เป็นมันวาว และมองเห็นเส้นเลือดได้ชัด
  • ตาทั้ง 2 ข้างมองต่ำลง

หัวโตแต่กำเนิด อาจส่งผลให้เด็กมีอาการต่อไปนี้  

  • อาเจียน
  • เบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนม
  • งอแง ร้องไห้บ่อย
  • ง่วงซึม
  • ขาดสมดุลด้านความตึงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ขาดการตอบสนองต่อการสัมผัส
  • มีปัญหาพัฒนาการตามวัย

สาเหตุหัวโต

แม้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของหัวโตแต่กำเนิดในผู้ป่วยหลายรายได้ แต่ภาวะนี้อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น

  • ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีเลือดออกในสมอง จนขวางกั้นการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
  • ถุงน้ำในสมอง (Arachnoid Cysts) เกิดขึ้นระหว่างสมองหรือไขสันหลังกับเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง
  • การกลายพันธุ์ของโครโมโซม X จนเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (X-linked hydrocephalus)
  • โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย เช่น กลุ่มอาการแดนดี–วอล์กเกอร์ (Dandy Walker Malformation) ทำให้เกิดความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว

การวินิจฉัยหัวโต

ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกายทารก เพื่อมองหาสัญญาณอาการ เช่น ตรวจดูขนาดเส้นรอบวงของศีรษะ ตรวจหาอาการตาโหล ตรวจการตอบสนองทางร่างกาย จากนั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • อัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพของสมอง วิธีนี้ใช้ได้กับทารกที่กระหม่อมยังเปิดอยู่เท่านั้น และบางครั้งแพทย์อาจตรวจภาวะหัวโตในทารกก่อนคลอดจากการอัลตราซาวด์ครรภ์มารดาได้
  • ซีที สแกน เป็นการเอกซเรย์และสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ โดยภาพฉายจะแสดงถึงโพรงสมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หากเด็กป่วยด้วยภาวะหัวโต
  • เอ็มอาร์ไอ สแกน เป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงแสดงภาพของเหลวในสมองที่ก่อตัวขึ้น แรงกดที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างของสมองที่บกพร่องที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้

ในบางกรณี แพทย์อาจใช้การตรวจร่วมกัน ทั้งซีที สแกนและ เอ็มอาร์ไอ สแกน เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะหัวโต

การรักษาหัวโต

ทารกหัวโตแต่กำเนิดควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งมักรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อลดแรงกดของสมองทันที ป้องกันไม่ให้สมองได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น การรักษาภาวะหัวโตยังมีวิธีดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เป็นการใส่ท่อระบายน้ำที่ยาว ยืดหยุ่นได้ และมีลิ้นเปิดปิด เพื่อให้ของเหลวจากสมองไหลถูกทิศทางด้วยอัตราความเร็วที่เหมาะสม แพทย์จะผ่าตัดนำปลายท่อด้านหนึ่งไว้ที่โพรงสมอง และสอดท่อไว้ใต้ผิวหนังผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่มากเกินไปได้ เช่น บริเวณช่องท้อง โดยผู้ป่วยหัวโตจำเป็นต้องใส่ท่อระบายนี้ตลอดชีวิต และเข้ารับการตรวจอย่างต่อเนื่อง
  • การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องในโพรงสมอง แพทย์จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยจะผ่าตัดและใช้กล้องขนาดเล็กส่องภายในโพรงสมอง สร้างรูในเนื้อสมองเพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังให้ไหลออกมายังผิวสมองส่วนที่สามารถดูดซับน้ำสมองได้
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ผู้ป่วยบางรายที่ป่วยด้วยภาวะหัวโต อาจต้องได้รับการรักษาอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และระยะเวลาในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

เด็กหัวโตแต่กำเนิด อาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ เช่น กุมารแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ประสาทสำหรับเด็ก นักกิจกรรมบำบัดที่เชี่ยวชาญเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพ นักบำบัดด้านพัฒนาการ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์

ภาวะแทรกซ้อนของหัวโต

เด็กหัวโตจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาและทางร่างกายบกพร่อง หากอาการไม่รุนแรงมากและได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวโตอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวเมื่อเด็กโตขึ้นได้ เช่น มีปัญหาความจำและการเรียนรู้ มีความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ แค่ช่วงสั้น ๆ บกพร่องในการพูดและการมองเห็น ป่วยด้วยโรคลมชัก เป็นต้น

นอกจากนี้ การผ่าตัดรักษาภาวะหัวโตอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • การผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง สายอาจหยุดการระบาย หรือควบคุมการระบายน้ำได้ไม่ดี เนื่องจากเครื่องมืออาจทำงานผิดปกติ เกิดการอุดตัน หรือเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
  • การผ่าตัดในโพรงสมอง อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออก และเกิดการติดเชื้อได้

การป้องกันหัวโต

หัวโตแต่กำเนิดเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ รับการดูแลจากแพทย์ก่อนคลอด ไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อรับการตรวจ ลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เด็กมีภาวะหัวโตได้