สาหร่ายสไปรูลินาและประโยชน์ต่อสุขภาพ

สาหร่ายสไปรูลินา เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินซึ่งพบในแหล่งน้ำเค็มของเขตร้อนชื้น หรือบางชนิดอาจพบในแหล่งน้ำจืด อุดมไปด้วยวิตามินบี เหล็ก แร่ธาตุต่าง ๆ และเป็นแหล่งโปรตีน เหมาะสำหรับบุคคลที่รับประทานมังสวิรัติ อีกทั้งยังมีการนำสาหร่ายสไปรูลินามาผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

สาหร่ายสไปรูลินา

นอกจากนี้ สาหร่ายสไปรูลินายังประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ไฟโคไซยานิน (Phycocyanin) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) แกมม่า-ไลโนเลนิค แอซิด (Gamma-Linolenic Acid) สเตอรอลจากพืช (Plant Sterols) และเส้นใยอาหาร ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาอาจให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น รักษาโรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน สมาธิสั้น ภาวะโลหิตจาง บรรเทาความเมื่อยล้า เป็นต้น ซึ่งคำกล่าวอ้างเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ และมีหลักฐานทางการแพทย์มากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของสาหร่ายสไปรูลินาที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

ประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลินาที่อาจมีต่อสุขภาพ

ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และช่วยลดระดับไขมันในเลือด

โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ ซึ่งเบาหวานประเภทที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาไม่เพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ หรือเรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ระบุประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลินาที่อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและส่งผลดีต่อระดับไขมันในเลือด ทดลองโดยให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาวันละ 2 กรัม เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง รวมถึงระดับคอเลสเตอรอลรวม (TG) และไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดต่ำลง และระดับไขมันชนิดที่ดี (HDL) ยังเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาต่อระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่เป็นเพียงผลจากการทดลองขนาดเล็กและใช้เวลาทดลองสั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลินาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ช่วยบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออนุภาคในอากาศที่หายใจเข้าไปมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้และส่งผลให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โพรงจมูกอักเสบ หรือการติดเชื้อที่หู ซึ่งอาการเหล่านี้รักษาได้ด้วยยาแผนปัจจุบันแต่การใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ การรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเพราะอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจากผลการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้พบว่า สาหร่ายสไปรูลินาอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล จาม คัดหรือคันจมูก อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถระบุกลไกการออกฤทธิ์ของสาหร่ายสไปรูลินาได้อย่างชัดเจน จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เพิ่มระดับฮีโมโกลบินและอาจช่วยรักษาภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสียเลือด ปัญหาจากการผลิตหรือการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายขาดฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดง ในการทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้าและอวัยวะในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ หลายคนอาจเชื่อว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาอาจช่วยเพิ่มฮีโมโกลบินและบรรเทาอาการจากภาวะโลหิตจางได้ โดยการศึกษาทดลองชิ้นหนึ่งได้ให้อาสาสมัครอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ รับประทานสาหร่ายสไปรูลินาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าปริมาณเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงเพิ่มสูงขึ้น โดยที่อาสาสมัครเพศหญิงอาจตอบสนองและเห็นผลได้เร็วกว่า อีกทั้งปริมาตรของเซลล์เม็ดเลือดแดงและความเข้มข้นเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงของอาสาสมัครเพศชายก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาอาจส่งผลดีต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะโลหิตจางและระบบภูมิคุ้มกันถดถอย ถึงแม้ผลการศึกษาข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลินา แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมโดยเน้นถึงเรื่องความปลอดภัย ระยะเวลาในการติดตามผล และจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองที่มากขึ้น

ประโยชน์ต่อการรักษาผู้ที่ได้รับพิษจากสารหนู

สารหนูเป็นโลหะหนักไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรสชาติ พบได้ตามธรรมชาติหรืออุตสาหกรรมถลุงแร่ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร ทางการหายใจ ทางหลอดเลือดดำ และทางเยื่อเมือก โดยเฉพาะทางเดินอาหารประมาณ 90% ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่า การสัมผัสสารหนูในปริมาณมากและเป็นเวลานานทั้งจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน มักเกิดความผิดปกติที่ระบบผิวหนัง เช่น สีผิวเข้มขึ้น ผิวหนาเป็นปื้น อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และเป็นพิษต่อประสาท ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากสารหนูที่มีอาการรุนแรง จึงได้มีการทดลองเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของสาหร่ายสไปรูลินา พบว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาขนาด 250 มิลลิกรัมและสังกะสีขนาด 2 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 16 สัปดาห์ อาจจะมีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ที่ได้รับพิษจากสารหนูที่มีอาการทางระบบผิวหนัง และเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนจึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินายังอาจมีส่วนช่วยรักษาโรคสมาธิสั้น โรคขาดสารอาหาร บรรเทาความเมื่อยล้า อาการวัยทอง กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ช่วยลดน้ำหนัก รวมถึงช่วยลดระดับไขมันในเลือด แต่ในทางการแพทย์ยังไม่มีผลวิจัยเพียงพอ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสาหร่ายสไปรูลิน่าเกี่ยวกับโรคหรืออาการดังกล่าว

รับประทานสาหร่ายสไปรูลินาอย่างไรให้ปลอดภัย

การรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาค่อนข้างปลอดภัย หากปราศจากสารไมโครซิสตินส์เจอปน รวมถึงสารพิษโลหะ และแบคทีเรียที่เป็นอันตราย มิเช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ช็อก หรืออาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กที่รับประทานสาหร่ายสไปรูลินาค่อนข้างไม่ปลอดภัยและอาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

ข้อควรระวังในการรับประทานสาหร่าย โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานสาหร่ายสไปรูลินา เนื่องจากยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะปลอดภัยหรือส่งผลต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
  • ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น เพราะการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานทำงานมากขึ้น
  • ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย เพราะสารฟีนิลอะลานีนที่พบในสาหร่ายสไปรูลินา อาจทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไธโอพรีน บาซิลิซิแมบ ไซโคลสปอริน ไมโคฟีโนเลต ทาโครลิมัส เพรดนิโซน คอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นต้น เพราะการรับประทานสาหร่ายสไปรูลินาร่วมกับยาดังกล่าวอาจไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยา