สิ่งที่ควรรู้ก่อนทำปากกระจับ

การทำปากกระจับ เป็นการทำศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากทั้งส่วนบนและส่วนล่างให้ได้รูปทรงโค้งเรียวสวยคล้ายกับผลกระจับและรับกับใบหน้า โดยแพทย์จะผ่าตัดริมฝีปากบนด้านซ้ายกับด้านขวาให้โค้งแหลมคล้ายกับถ้วยที่คว่ำไว้ และให้ทั้งสองด้านโค้งต่ำลงบรรจบกันตรงกลาง ขณะที่ริมฝีปากล่างก็จะถูกตัดแต่งเนื้อบางส่วนออกไปให้โค้งคล้ายกับรูปทรงสามเหลี่ยม หรือให้บางลงและโค้งได้รูปรับกับริมฝีปากบน

ในปัจจุบันการทำปากกระจับมีหลายวิธีและอาจไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดศัลยกรรม เช่น การฉีดฟิลเลอร์เสริมริมฝีปาก (Lip Augmentation) เพื่อให้ริมฝีปากได้รูปทรงอย่างที่ต้องการ โดยการฉีดฟิลเลอร์ที่นิยมจะเป็นการฉีดสารไฮยารูโรนิกแอซิด (Hyaluronic Acid) เข้าไปในบริเวณที่ต้องการเพื่อปรับเปลี่ยนรูปทรงปาก

ทำปากกระจับ

ประโยชน์ของการทำปากกระจับ

การทำปากกระจับมีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์หลายประการ ดังนี้

  • ช่วยเสริมบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจในรูปลักษณ์
  • ช่วยแก้ไขรูปทรงริมฝีปากที่ใหญ่หรือหนามาแต่กำเนิด 
  • ตกแต่งให้ริมฝีปากบนและล่างเข้ารูปสมดุลกัน 
  • ช่วยรักษาผู้ป่วยภาวะปากบวมใหญ่ (Macrocheilia) ที่มีริมฝีปากผิดรูป ส่งผลให้อาจมีปัญหาในการพูดหรือการรับประทานอาหารร่วมด้วย รวมทั้งรักษาอาการป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการเมลเคอร์สสัน-โรเซ็นทาล (Melkersson-Rosenthal Syndrome) ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นอัมพาตที่ใบหน้า โดยบริเวณใบหน้าและริมฝีปากจะมีอาการบวมโต และกลุ่มอาการแอชเชอร์ (Ascher Syndrome) ที่ผู้ป่วยจะมีอาการบวมน้ำและต่อมไทรอยด์โตบริเวณเปลือกตาและริมฝีปาก

ข้อควรระวังในการทำปากกระจับ

ผู้ที่มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่างอาจไม่สามารถทำศัลยกรรมปากกระจับได้ เช่น

  • ผู้ที่ภาวะปากบวมใหญ่หลอก (Pseudomacrocheilia) ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับภาวะปากบวมใหญ่ แต่ไม่ได้ป่วยด้วยภาวะนี้จริง ๆ
  • ผู้ที่มีภาวะปากอักเสบอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้การผ่าตัดยากขึ้นและต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง
  • ผู้ที่มีสภาวะจิตใจไม่มั่นคง เพราะการศัลยกรรมอาจส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้

การเตรียมความพร้อมก่อนทำปากกระจับ

ผู้ที่ต้องการทำปากกระจับ ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดให้ถี่ถ้วนก่อน โดยสามารถปรึกษากับศัลยแพทย์ถึงประโยชน์ ความเสี่ยง ค่าใช้จ่าย และการพักรักษาตัวหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์อย่างอาการป่วย การแพ้ยา และโรคประจำตัว เพื่อให้แพทย์สามารถแนะนำและวางแผนการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม

ขั้นตอนการทำปากกระจับ

ขั้นตอนในการผ่าตัดทำปากกระจับ มีดังนี้

1. เตรียมการผ่าตัด

 

ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องขึ้นไปนอนบนเตียงผ่าตัดเพื่อให้แพทย์ใช้ปากกาวาดเส้นบนริมฝีปาก และทำเครื่องหมายบนริมฝีปากส่วนที่จะผ่าตัด เมื่อวางแผนรูปปากที่ต้องการได้แล้ว แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด เพื่อไม่ให้คนไข้รู้สึกเจ็บปวดในขณะผ่าตัด แต่คนไข้จะยังรู้สึกตัวในขณะที่ทำการผ่าตัด

2. ลงมือผ่าตัด

 

แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อส่วนด้านในของริมฝีปากออกไป แต่หากเนื้อริมฝีปากด้านในมีน้อยอาจต้องตัดเนื้อริมฝีปากด้านนอกออกไปด้วยเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ โดยแพทย์จะผ่าเป็นรอยหยักเพื่อให้แผลสมานตัวได้ง่าย รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น  

ในขั้นตอนการผ่าตัด แพทย์จะระมัดระวังไม่ให้ผ่าไปโดนเนื้อเยื่อที่เป็นกล้ามเนื้อสำคัญในการพูดและการเคลื่อนไหวของปาก และรอยแผลผ่าตัดที่เริ่มกรีดจะห่างจากมุมปากด้านในอย่างน้อย 5 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลเป็นที่บริเวณมุมปากที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน

3. เย็บแผลผ่าตัด

 

แพทย์จะเย็บแผลให้ได้รูปทรงปากกระจับ โดยอาจเย็บแผลเป็นรูปฟันปลาในบางจุดเพื่อตกแต่งแผลและป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลเป็นนูนไม่สม่ำเสมอกัน และเนื่องจากปากเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับความชื้นจากน้ำลายและมีการขยับตัวอยู่เสมอ แผลจากการผ่าตัดจึงต้องใช้เวลานานกว่าจะสมานตัว ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 7–9 วัน

การพักฟื้นหลังการทำปากกระจับ

เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแล้วและคนไข้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดที่เป็นอันตราย คนไข้สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ตามปกติ โดยแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลังจากยาชาหมดฤทธิ์ เและแนะนำแนวทางการพักฟื้นต่าง ๆ โดยคนไข้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กลับมาพบแพทย์หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะอาจทำให้แผลสมานตัวช้า

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำปากกระจับ

การทำปากกระจับอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการได้ เช่น

  • บริเวณที่ถูกผ่าตัดอาจไวต่อการสัมผัส ทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ง่ายเมื่อถูกกระทบกระเทือน
  • อาจเกิดรอยแผลเป็นนูนขึ้นมาบริเวณแผลผ่าตัด 
  • อาจเกิดความไม่สมมาตรกันระหว่างริมฝีปากบนกับริมฝีปากล่าง หรือริมฝีปากกับใบหน้า
  • อาจเกิดถุงน้ำในช่องปากหรือต่อมน้ำลายอุดตัน (Mucocele) ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก
  • อาจเกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติ หรือเกิดแผลติดเชื้อ