สัญญาณของอาการวัยทอง และวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้น

อาการวัยทองเป็นอาการที่พบได้เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยทอง (Menopause) หรือช่วงที่ร่างกายหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติของร่างกายจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เริ่มลดน้อยลง

โดยปกติ อาการวัยทองจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนเข้าสู่ช่วงวัยทองหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยประมาณ 45–55 ปี แต่บางกรณี เช่น การผ่าตัดนำรังไข่ออก หรือการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณรังไข่ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงวัยทองเร็วขึ้น

ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับอาการวัยทอง ทั้งสัญญาณแรกเริ่ม วิธีดูแลตัวเอง และอาการที่ควรไปพบแพทย์มาให้ได้ศึกษากัน

สัญญาณของอาการวัยทอง และวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้น

สัญญาณของอาการวัยทองมีอะไรบ้าง

ในช่วงแรก ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทองจะเริ่มพบว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ 

จากนั้นผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทองจะเริ่มพบอาการวัยทองอื่น ๆ ตามมา โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

  • ร้อนวูบวาบ เป็นอาการที่ทำให้ใบหน้าและลำคอแดงผิดปกติ เกิดรอยจุดสีแดงบริเวณหน้าอก หลัง และแขน มีเหงื่อออกมากและหนาวสั่น โดยอาการจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ครั้งละประมาณ 30 วินาที–10 นาที แต่ความถี่จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจพบอาการหลายครั้งภายในไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่บางคนอาจพบอาการเพียงไม่กี่ครั้งในระยะเวลาหลายวัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือตื่นเช้าผิดปกติ 
  • เกิดอาการผิดปกติบริเวณช่องคลอด ช่องคลอดแห้งผิดปกติ หรือบางคนอาจพบการเกิดภาวะมดลูกหย่อน (Uterine Prolapse) ร่วมด้วย 
  • ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป เช่น มีความต้องการทางเพศมากขึ้น หรือมีความต้องการทางเพศน้อยลง 
  • อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด

นอกจากนี้ ยังมีอาการวัยทองอื่น ๆ ที่อาจพบได้อีก เช่น กลั้นปัสสาวะลำบาก มีรอบเอวเพิ่มขึ้น มวลกล้ามเนื้อลดน้อยลง ผิวหนังบาง มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ รู้สึกตึงหรือปวดกล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ 

วิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเมื่อพบอาการวัยทอง

ในเบื้องต้น อาการวัยทองอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และดื่มน้ำเย็นเมื่อมีอาการร้อนวูบวาบ
  • เปิดหน้าต่างหรือเครื่องปรับอากาศในห้องนอนเพื่อควบคุมอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอนหลับ และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน 
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการร้อนวูบวาบ เช่น จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัดและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง 
  • ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นหรือเจลหล่อลื่นบริเวณช่องคลอดเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง แต่ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลีเซอรีน (Glycerin) เป็นส่วนผสมหากมีประวัติแพ้สารดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคือง หรืออาการแสบร้อน
  • ฝึกท่ากระชับช่องคลอด (Kegel Exercises) เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และบรรเทาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • จัดการกับความเครียดด้วยการฝึกหายใจ หรือการทำกายบริหาร (Progressive Muscle Relaxation)
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์หรือครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก รวมถึงควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่มือสอง และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการวัยทองที่ต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังรับประทานยาบางชนิดอยู่

นอกจากนี้ แม้อาการวัยทองจะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทองหรืออยู่ในวัยทองควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ประจำเดือนมาเร็วขึ้น ประจำเดือนมามากผิดปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมานานเกิน 1 สัปดาห์ ประจำเดือนมาหลังจากหยุดมีประจำเดือนนานเกิน 1 ปี หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากเข้าสู่ช่วงวัยทอง