สถานการณ์สะเทือนขวัญ สู่โรคทางจิต PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

หากคุณฝันร้ายเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หมกมุ่นอยู่กับความคิดแง่ลบจนมีปัญหาการนอน หรือความทรงจำไม่ดีเก่า ๆ ยังคงตามมาหลอกหลอนให้ต้องจมอยู่กับความทุกข์ ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเผชิญหน้ากับโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงหรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

โรค PTSD เป็นโรคในกลุ่มอาการความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจกลัว หรือเสียใจอย่างหนักในชั่วขณะนั้น แล้วฝังจำสถานการณ์และความรู้สึกที่เจ็บปวดในอดีตไว้ แม้เวลาผ่านไปหรือมีสิ่งเร้ามากระตุ้นหรือไม่ก็ตามก็ยังนึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ ทำให้ผู้ป่วย PTSD เกิดความเครียดที่นำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน

PTSD

อาการของ PTSD เป็นอย่างไร

ไม่ใช่ทุกคนที่เคยเจอเรื่องร้าย ๆ แล้วจะต้องป่วยด้วย PTSD เพราะร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อเรื่องร้ายแตกต่างกัน PTSD มักเกิดกับผู้ที่ตกใจกลัวหรือเสียใจอย่างสุดขีดในขณะที่เผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ ทำให้ภาพเหตุการณ์และความรู้สึกยังคงฝังติดอยู่ในสมอง เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังคงระลึกภาพเหล่านั้นอยู่เสมอจนเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต 

นอกจากนี้ บางรายยังเห็นภาพติดตา วิตกกังวลจนนอนไม่หลับ หรือนอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึก ขวัญผวาเมื่อได้ยินเสียง ได้พบเห็น ได้กลิ่น หรือได้สัมผัสกับสิ่งที่เชื่อมโยงต่อสถานการณ์รุนแรงที่ตนเคยประสบมา และบางรายต้องคอยหลีกเลี่ยง ไม่พบ ไม่เดินผ่าน ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำให้นึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตได้ หรือรู้สึกโดดเดี่ยว  

ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้ตามเกณฑ์การวินิจฉัยนานอย่างน้อยหนึ่งเดือน ส่วนใหญ่พบว่ามีอาการในช่วง 3 เดือนหลังจากที่ประสบเหตุการณ์ร้าย แต่บางครั้งก็พบว่ามีผู้ป่วยมีภาวะ PTSD หลังจากเจอเหตุการณ์ร้ายมาเป็นปีได้เช่นกัน

ตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดโรค PTSD เช่น 

  • เคยถูกทอดทิ้งหรือเคยถูกทำร้ายในวัยเด็ก เช่น ถูกทิ้งให้อยู่ลำพังในห้องมืดหรือที่เปลี่ยว ถูกลงโทษอย่างรุนแรง
  • เคยถูกทำร้ายอย่างรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกายหรือการใช้คำพูดที่รุนแรงทำร้ายจิตใจ
  • เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือเคยมีคนพยายามล่วงละเมิดทางเพศ
  • เคยเห็นคนบาดเจ็บ ล้มตาย หรือเคยเห็นศพ เช่น ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ หรืออยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรม อาชญากรรม
  • มีบุคคลที่ใกล้ชิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จึงตกใจและเสียใจสุดขีด
  • เคยบาดเจ็บจากอาวุธ เช่น มีด ปืน ระเบิด
  • เคยอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เช่น การประท้วงขับไล่ การก่อจราจล การก่อการร้าย
  • เคยผ่านสงคราม เช่น ทหารผ่านศึก หรือคนที่อยู่ในพื้นที่สงคราม
  • เป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน เครื่องบินตก ไฟไหม้ อาคารถล่ม
  • เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก สึนามิ พายุหมุน แผ่นดินไหว

รับมืออย่างไรหลังเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ 

วิธีรับมือและจัดการความเครียดหลังเผชิญสถานการณ์ร้าย ๆ เพื่อป้องกันการนำไปสู่โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงหรือ PTSD คือ การได้รับกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อน การพบแพทย์เพื่อเข้ากลุ่มบำบัดร่วมกับผู้ที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน และการปล่อยให้เวลาที่ผ่านไปเพื่อช่วยบรรเทาลบล้างความรู้สึกด้านลบให้หมดไป

ส่วนผู้ที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังป่วยด้วย PTSD ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาต่อไป เพราะผู้ป่วยบางรายควรได้รับยารักษาควบคู่กับการทำจิตบำบัด

โรคทางจิตเวชอย่าง PTSD ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากรักษาควบคุมอาการทันเวลา ผู้ป่วยก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ตามเดิม แต่หากละเลยหรือแก้ปัญหาช้าเกินไป อาจเสี่ยงต่อการเลือกแก้ปัญหาในทางที่ผิด อย่างการใช้ยาเสพติดหรือเครื่องดื่มมึนเมาเมื่อเกิดความเครียด และพัฒนาไปสู่อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายได้