วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ รู้จัก 14 สัญญาณเตือนของคนท้อง

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ เป็นแนวทางที่จะช่วยให้สังเกตสัญญาณการตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยผู้หญิงบางคนอาจสังเกตเห็นอาการคนท้องในช่วง 1–2 สัปดาห์แรก แต่ในบางคน อาจไม่มีอาการคนท้องในช่วงแรก จึงอาจทำให้ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์จนเวลาผ่านไปหลายเดือน

ทั้งนี้ หากพบว่ามีสัญญาณของอาการคนท้อง อาจเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีอาการเหล่านั้นอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น อาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน (PMS) ความเครียด ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ดังนั้น ควรใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อตรวจสอบการตั้งครรภ์ โดยควรใช้หลังจากประจำเดือนไม่มา 1 สัปดาห์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน 

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ด้วยตนเอง

อาการคนท้องต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมน HCG  ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยผู้หญิงบางคนอาจมีอาการคนท้องที่รุนแรง และในบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น  

1. ประจำเดือนไม่มา

ประจำเดือนไม่มาเป็นวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ที่ค่อนข้างชัดเจน โดยหลังจากที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่หยุดการตกไข่ และการลอกตัวของผนังเยื่อบุมดลูก ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาจนกว่าจะคลอดลูก

2. คลื่นไส้ แพ้ท้อง

คลื่นไส้ แพ้ท้องเป็นอีกหนึ่งวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ที่พบได้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หลายคน โดยอาการคลื่นไส้และแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้องนั้นยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นจากการที่ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง

3. เจ็บหรือบวมบริเวณเต้านม

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเจ็บเต้านมเมื่อถูกสัมผัส และเต้านมมีอาการบวม นอกจากนี้ บริเวณหัวนมของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีสีเข้มขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง เมื่อร่างกายคุ้นชินกับระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น

4. เลือดออกกะปริดกะปรอย และอาการปวดท้อง 

เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก อาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยและอาการปวดท้อง ซึ่งเป็นสัญญาณของเลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) โดยเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนอาจมีลักษณะเป็นหยดเลือดหรือเป็นตกขาวสีน้ำตาล โดยอาการที่เกิดจากเลือดล้างหน้าเด็กมักเกิดขึ้นภายใน 6–12 วันหลังเกิดการปฏิสนธิ และมักจะหยุดไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก

5. ตกขาว

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่วิธีถัดมาคือการสังเกตตกขาว โดยผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีตกขาวสีขาวขุ่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ผนังช่องคลอดหนาตัวขึ้นหลังจากการปฏิสนธิ โดยตกขาวที่เกิดขึ้นมักไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา หากตกขาวมีกลิ่น หรือรู้สึกคันและแสบช่องคลอด  เพราะอาการเหล่านี้มักเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เชื้อราในช่องคลอด เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ 

6. ท้องผูก

ท้องผูกเป็นอาการที่มีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมีอาการขับถ่ายยาก ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจเพิ่มสูงขึ้น และทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ช้าลง เมื่ออาหารเคลื่อนที่ช้า ลำไส้อาจดูดซึมน้ำได้มากกว่าปกติ จึงทำให้อุจจาระแข็งและท้องผูก

7. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง

การมีความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่อีกวิธีที่เห็นได้ชัดเจน โดยในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกอยากอาหารบางอย่างที่เคยไม่ชอบ หรืออาจเกลียดอาหารที่เคยชอบกินตอนก่อนตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังอาจรู้สึกหิวบ่อย หรือรู้สึกอยากกินอาหารบางชนิดตลอดเวลา เช่น อาหารรสเปรี้ยว ผลไม้รสเปรี้ยว

8. ไวต่อกลิ่นมากขึ้น

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการไวต่อกลิ่นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจมีอาการเหม็นต่อกลิ่นอาหารหรือกลิ่นสิ่งของบางอย่าง เช่น น้ำหอม ซึ่งกลิ่นเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนตามมาได้

9. ท้องอืด

ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือรู้สึกมีลมในท้องเยอะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเรอหรือผายลมมากกว่าปกติ ดังนั้น หากมีอาการท้องอืด เรอหรือผายลมมากกว่าปกติ อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ได้

10. ผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงการตั้งครรภ์ ร่างกายมักมีระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นและมีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งการมีฮอร์โมนและเลือดเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผิวต่าง ๆ เช่น ผิวแดง (Skin flushing) ผิวมัน และอาจทำให้เกิดสิวตามมา

11. ปัสสาวะบ่อย

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่อาจดูได้จากการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการมีเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้ไตต้องกรองเลือดเป็นจำนวนมากและกำจัดน้ำส่วนเกินออก ซึ่งน้ำที่ขับออกจากร่างกายอาจออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ โดยยิ่งมีเลือดในร่างกายเยอะ ก็ยิ่งอาจปัสสาวะบ่อยขึ้น

 12. อ่อนเพลีย 

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจรู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น เพราะเกิดจากการมีระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งฮอร์โมนโปเจสเตอโรนอาจมีส่วนช่วยให้รู้สึกง่วงนอน จึงทำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์รู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วงนอนได้

นอกจากนี้ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอาจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียตามมาได้

13. เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หัวใจอาจมีการสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในปริมาณที่มากกว่าปกติ อาจส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้ความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกเวียนศีรษะได้ นอกจากนี้ ปริมาณเลือดและระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมาได้เช่นกัน

14. อารมณ์แปรปรวน

อารมณ์แปรปรวนอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญขณะตั้งครรภ์ จึงอาจทำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวน โดยบางรายอาจมีอารมณ์รุนแรง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมากขึ้น

วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่อาจช่วยให้ทราบเบื้องต้นว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่เพื่อให้ทราบผลแน่ชัดขึ้น ควรใช้ที่ตรวจครรภ์ หากผลตรวจออกมาเป็นบวก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมและฝากครรภ์ โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ จ่ายวิตามินบำรุงครรภ์ต่าง ๆ เช่น กรดโฟลิก ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญสำหรับพัฒนาการของทารกในครรภ์ และอาจนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์ในครั้งถัดไป