6 วิธีรักษาเล็บขบอย่างเหมาะสม

การรักษาเล็บขบอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้อาการเล็บขบดีขึ้น โดยเล็บขบเป็นอาการที่ขอบหรือมุมของเล็บเท้างอกและทิ่มเข้าไปในผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการบวม แดงและปวดบริเวณที่เกิดเล็บขบ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เล็บขบอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น การติดเชื้อที่กระดูกและเนื้อตายเน่า

เล็บขบเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการตัดเล็บเท้าผิดวิธี เช่น ตัดมุมเล็บเท้าโค้งหรือสั้นเกินไป ทำให้เล็บที่งอกขึ้นใหม่อาจทิ่มเข้าไปในผิวหนังได้ นอกจากนี้ เล็บขบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น รูปร่างของนิ้วเท้า การใส่รองเท้าที่รัดแน่นเกินไป การได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้า การไม่รักษาความสะอาดของเท้าและการติดเชื้อราที่เท้า

วิธีรักษาเล็บขบ

การดูแลรักษาเล็บขบอย่างเหมาะสม

การรักษาเล็บขบควรเริ่มทำเมื่อเริ่มมีอาการบวม แดง หรือปวดบริเวณที่เกิดเล็บขบ เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บหรือนิ้วเท้าเกิดการติดเชื้อ โดยวิธีการดูแลรักษาเล็บขบสามารถทำได้ดังนี้

1. แช่เท้าในน้ำอุ่น

การรักษาเล็บขบอาจทำได้โดยการแช่เท้าในน้ำอุ่นประมาณ 15–20 นาที วันละ 3–4 ครั้ง การแช่น้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมของนิ้วเท้า นอกจากนี้อาจผสมน้ำสบู่หรือเกลือในน้ำอุ่น ซึ่งน้ำสบู่อาจช่วยทำความสะอาดแผลเล็บขบและเกลืออาจช่วยลดอาการปวดและช่วยระบายหนองได้อีกด้วย นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรเช็ดนิ้วเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังจากแช่น้ำอุ่นหรือหลังจากที่เท้าเปียก

2. ใช้ไหมขัดฟันหรือสำลีสอดใต้มุมเล็บเท้า

การใช้ไหมขัดฟันหรือสำลีบาง ๆ สอดเข้าใต้มุมเล็บเท้าอาจช่วยรักษาเล็บขบให้ดีขึ้น โดยหลังจากแช่เท้าในน้ำอุ่นเสร็จแล้ว นำไหมขัดฟันหรือสำลีบาง ๆ สอดใต้มุมเล็บบริเวณที่เกิดเล็บขบ เพื่อให้เล็บที่งอกขึ้นใหม่ไม่ทิ่มผิวหนังและกลายเป็นเล็บขบอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม การสอดไหมขัดฟันหรือสำลีใต้มุมเล็บเท้าอาจต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้รู้สึกปวดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้น ควรเปลี่ยนไหมขัดฟันหรือสำลีอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งและแช่ไหมขัดฟันหรือสำลีในแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนสอดทุกครั้ง

3. ทาครีมฆ่าเชื้อ

การทาครีมฆ่าเชื้ออาจช่วยรักษาเล็บขบให้มีอาการดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ การทายาฆ่าเชื้อควรทาบนเล็บเท้าและบริเวณผิวหนังรอบเล็บ จากนั้นใช้ผ้าพันแผลปิดบริเวณที่เป็นเล็บขบ โดยควรทาวันละ 3 ครั้งหรือตามที่ฉลากยาระบุไว้ ตัวอย่างครีมทาฆ่าเชื้อมีดังนี้ นีโอมัยซิน (Neomycin) บาซิทราซิน (Bacitracin) และมิวพิโรซิน (Mupirocin)

4. กินยาแก้ปวด

การกินยาแก้ปวดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเล็บขบได้ ตัวอย่างยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น อะเซตามีโนเฟน (Cetaminophen) หรือ นาพรอกเซน (Naproxen) นอกจากนี้ อาจกินยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการปวดได้ เพราะนอกจากช่วยบรรเทาอาการปวดเล็บขบแล้ว ยังช่วยลดอาการบวมได้อีกด้วย

5. ใส่รองเท้าหัวเปิดหรือรองเท้าแตะ

ระหว่างการรักษาเล็บขบ ควรใส่รองเท้าหัวเปิดหรือรองเท้าแตะและหลีกเลี่ยงรองเท้าหัวแหลมหรือรองเท้าที่รัดแน่นเกินไป เพราะรองเท้าอาจบีบนิ้วเท้าและทำให้รู้สึกปวดเล็บขบได้ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใส่รองเท้าทรงหัวแหลมหรือรองเท้าหัวปิด ควรใส่รองเท้าที่หลวมหรือมีพื้นที่ข้างหน้าเหลือมากพอให้ขยับนิ้วเท้าได้ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเล็บขบแย่ลง

6. ไปพบแพทย์

หากเป็นเล็บขบและป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาเล็บขบทันที เพราะการเป็นเล็บขบขณะเป็นโรคเบาหวานอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการต่าง ๆ เช่น เส้นประสาทที่นิ้วเท้าได้รับความเสียหายและมีเลือดไปหล่อเลี้ยงที่เท้าน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้แผลเล็บขบหายช้าและรักษายากขึ้น

นอกจากนี้ หากรักษาเล็บขบด้วยตัวเองแล้วแต่ไม่ดีขึ้นหรือมีสัญญาณของการติดเชื้อเกิดขึ้น เช่น บวมหรือแดงมากกว่าเดิม รู้สึกปวดหรือเจ็บมาก มีหนองหรือเลือดไหล นิ้วเท้ามีกลิ่นเหม็น และรู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัส ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาเล็บขบและไม่ควรตัดเล็บขบด้วยตัวเอง โดยการรักษาเล็บขบโดยแพทย์อาจทำได้ดังนี้

  • การกินยาฆ่าเชื้อ แพทย์อาจแนะนำให้กินยาฆ่าเชื้อ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) และแวนโคมัยซิน (Vancomycin) เพื่อลดอาการบวมหรือเจ็บ และรักษาเล็บขบติดเชื้อ
  • การยกเล็บขึ้น แพทย์อาจสอดอุปกรณ์ใต้เล็บขบ เพื่อไม่ให้เล็บขบทิ่มเข้าผิวหนังและช่วยให้เล็บที่งอกใหม่ไม่กลับไปขบอีกครั้ง โดยแพทย์อาจให้ทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วยเพื่อลดการอักเสบ ทั้งนี้ ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้สอดทุกวันเพื่อความสะอาด
  • การถอดเล็บออกบางส่วน วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาเล็บขบที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการผ่าตัดหรือถอดเล็บส่วนที่ขบออกและเก็บเล็บส่วนที่ปกติไว้ โดยเล็บอาจใช้เวลาประมาณ 2–4 เดือนเพื่องอกขึ้นใหม่
  • การถอดเล็บ หากเล็บขบกลับมาเป็นซ้ำบ่อยครั้ง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดถอดเล็บทั้งหมด นอกจากนี้ แพทย์อาจทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดติดกับเล็บบริเวณที่ขบ เพื่อไม่ให้เล็บบริเวณนั้นงอกขึ้นใหม่และกลับมาเป็นเล็บขบซ้ำอีกครั้ง

เมื่อเล็บขบเกิดการติดเชื้อ ควรได้รับการรักษาอย่างทันทีเพื่อป้องกันการเกิดอาการอันตราย เช่น การติดเชื้อที่กระดูกและเนื้อตายเน่า ทั้งนี้ การป้องกันเล็บขบไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำสามารถทำได้โดยการรักษาความสะอาดของเท้า ใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดี ตัดเล็บเป็นแนวตรงและไม่สั้นเกินไป นอกจากนี้ ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นและทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บทุกครั้งก่อนตัดเล็บ