วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง กับการวินิจฉัยโรค

มะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาทางสุขภาพที่พบบ่อยในผู้หญิงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากอาจช่วยให้พบความผิดปกติบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการตรวจพบมะเร็งเต้านมและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดได้

ตรวจมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมคืออะไร ?

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่เกิดจากการที่เซลล์ของเต้านมมีการแบ่งตัวผิดปกติโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นภายในท่อน้ำนม และสามารถกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และอวัยวะอื่น ๆ โดยมะเร็งชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่า ซึ่งอาการที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • มีก้อนที่เต้านมหรืออาจพบว่าเนื้อเยื่อบริเวณนั้นมีความหนาที่มากขึ้นกว่าเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • มีก้อนหรืออาการบวมที่บริเวณรักแร้แต่ละข้าง
  • เต้านมมีขนาด รูปร่าง หรือลักษณะภายนอกที่ผิดปกติ
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนแปลง เช่น มีอาการบวม แดง หรือเกิดรอยบุ๋ม รูขุมขนใหญ่เป็นลักษณะเหมือนผิวส้ม เป็นต้น
  • มีน้ำไหลออกจากเต้านมผิดปกติ
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมหรือฐานหัวนมลอกหรือตกสะเก็ด
  • หัวนมมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง เช่น หัวนมบุ๋ม มีผื่นขึ้นบริเวณหัวนมหรือรอบ ๆ หัวนม เป็นต้น

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองมีวิธีอย่างไร ?

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่อาจช่วยให้คุณพบอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

  • การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการดู
    วิธีนี้สามารถทำได้โดยการยืนตัวตรงหน้ากระจก ไหล่ตรง ปล่อยแขนแนบลำตัวทั้งสองข้าง หรือยกมือเท้าสะเอว หรือยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น แล้วสังเกตลักษณะของเต้านมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติอย่างหัวนมบุ๋มหรืออยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ มีรอยบุ๋มหรือรอยนูนที่ผิวหนัง สีผิวไม่เสมอกัน ผิวบวม สีแดงคล้ำ รูขุมขนใหญ่เป็นลักษณะคล้ายผิวส้ม รู้สึกปวด มีแผลผิวถลอกหรือแผลจากก้อนนูนแตก หรือมีน้ำไหลออกมาจากหัวนมซึ่งอาจเป็นน้ำเหลือง น้ำ น้ำนม หรือเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการคลำ
    การตรวจเต้านมด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ทั้งในท่านั่ง ยืน หรือนอนหงายโดยใช้หมอนรองศีรษะ จากนั้นยกมือข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้ปลายนิ้วมือด้านตรงข้ามคลำเต้านมข้างที่ยกมือขึ้น กดและคลำเบา ๆ วนรอบเต้านมเพื่อดูว่าพบก้อนแข็งปกติหรือไม่ ซึ่งก้อนแข็งนั้นอาจกลิ้งได้ หรือยึดดึงรั้งผิวหนัง หรืออาจแตกทะลุผิวเป็นแผลจนทำให้มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาได้ กดหัวนมเบา ๆ โดยหัวนมที่ปกติจะไม่ดึงรั้งและเคลื่อนตามแรงมือได้ง่าย และบีบหัวนมดูว่ามีน้ำไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ รวมทั้งคลำดูบริเวณรักแร้และเหนือไหปลาร้าทั้ง 2 ข้างว่าพบก้อนผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ คุณอาจตรวจเต้านมด้วยการคลำในขณะอาบน้ำได้อีกด้วย เนื่องจากขณะอาบน้ำเป็นช่วงเวลาที่ผิวหนังเปียกและลื่นจึงอาจช่วยให้ตรวจมะเร็งเต้านมได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมโดยแพทย์

แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีต่าง ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมและระยะของโรคอย่างละเอียด ซึ่งวิธีที่ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • การตรวจเต้านม
    แพทย์จะทำการตรวจเต้านมและต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ในเบื้องต้น โดยการคลำเต้านมเพื่อตรวจดูว่ามีก้อนหรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงมะเร็งเต้านมหรือไม่
  • การตรวจแมมโมแกรม
    แมมโมแกรมเป็นการตรวจทางรังสีรูปแบบหนึ่งที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป โดยเป็นวิธีที่แพทย์มักใช้ในการตรวจหามะเร็งเต้านมหลังจากที่แพทย์ได้พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจเต้านมในเบื้องต้น
  • การทำอัลตราซาวด์เต้านม
    อัลตร้าซาวด์เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจับภาพอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งการตรวจด้วยวิธีที่แพทย์มักใช้เพื่อระบุว่าก้อนที่เต้านมนั้นเป็นก้อนแข็งหรือถุงน้ำที่เต็มไปด้วยของเหลว
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ
    เอ็มอาร์ไอเป็นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกาย โดยคุณอาจได้รับการฉีดสารย้อมสีก่อนการตรวจเอ็มอาร์ไอที่เต้านม
  • การตรวจชิ้นเนื้อ
    เมื่อแพทย์พบก้อนเนื้อที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านมหลังจากตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว แพทย์อาจนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้ระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำและควรเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ที่เคยมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี

ระยะของมะเร็งเต้านม

ระยะความรุนแรงของมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่ต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด การตรวจแมมโมแกรมที่เต้านม การตรวจเอ็มอาร์ไอที่เต้านม การสแกนกระดูก การทำซีทีสแกน และการทำเพทสแกน เป็นต้น โดยมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 0-1 เป็นระยะที่พบเซลล์ที่มีการเจริญผิดปกติหรือก้อนเนื้อภายในเต้านม ซึ่งเซลล์มะเร็งเต้านมจะอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดเท่านั้น และยังไม่มีการแพร่กระจาย
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโตกว่าระยะแรก แต่เซลล์มะเร็งจะยังอยู่ภายในบริเวณเต้านมเท่านั้น และยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดสูง
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้กับเต้านม
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นที่บริเวณเต้านมควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยทันที เพราะหากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่น ๆ และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะหายขาดได้