วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (COVID-19 Vaccine AstraZeneca/ ChAdOx1)

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (COVID-19 Vaccine AstraZeneca/ ChAdOx1)

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (COVID-19 Vaccine AstraZeneca/ ChAdOx1) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector Vaccines) ที่เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยนำสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ฝังไว้กับไวรัสชนิดอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อย่างไวรัสอะดีโน (Adenovirus) แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อดังกล่าวในอนาคต

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีชื่อเป็นทางการว่า ChAdOx1 (AZD1222) เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ในปัจจุบันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรองรับจากองค์การอาหารและยาของประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ในกรณีฉุกเฉิน

*บทความนี้จะกล่าวถึงวัคซีน ChAdOx ด้วยชื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า*

Izmir,,Turkey,-,November,18,2020:,Coronavirus,Vaccine,Concept,And

เกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ป้องกันโรคโควิด-19
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของวัคซีนชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนชนิดนี้จะขับออกทางน้ำนมหรือไม่ แต่แพทย์จะพิจารณาให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับแม่ที่ให้นมบุตรหากระบุได้ว่าแม่จะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อแม่และเด็กทารก ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนการตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน

คำเตือนในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ผู้เข้ารับการฉีควัคซีนควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทราบหากฉีดวัคซีนชนิดอื่นมาก่อนในเข็มแรก
  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนชนิดอื่น ๆ อย่างรุนแรง หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนในเบื้องต้น
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนต่อเด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุดังกล่าว
  • ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงภายใน 4 ชั่วโมงแรก เช่น มีผื่นลมพิษ หายใจเป็นเสียงหวีด เกิดภาวะหายใจลำบากหรือมีอาการบวม เป็นต้น หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มถัดไป
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเพิ่งป่วยด้วยอาการของกลุ่มอาการเส้นเลือดฝอยรั่ว (Capillary Leak Syndrome: CLS) เมื่อไม่นาน เคยมีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เคยมีประวัติป่วยด้วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือภาวะความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เพราะอาจเกิดจ้ำเลือดหรือภาวะเลือดออกหลังการฉีดวัคซีน แพทย์จึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาทิ ยากดภูมิคุ้มกันหรือยารักษาโรคมะเร็ง
  • หากกำลังป่วยและมีอาการค่อนข้างรุนแรง เกิดการติดเชื้อ มีไข้สูงเฉียบพลันหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าออกไปก่อน แต่หากมีอาการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยหรือมีไข้ต่ำ ๆ สามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ

ปริมาณการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็ม ในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อในบริเวณต้นแขน และการฉีดครั้งที่ 2 จะเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยระยะห่างในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมคือ 8–12 สัปดาห์หลังจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในครั้งแรก

การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะฉีดโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 วัน ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก

ในวันฉีดวัคซีน ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้อง คัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิ ซักประวัติทางการแพทย์ การได้รับยาและวัคซีนในอดีต และหลังจากฉีดวัคซีน ผู้รับการฉีดต้องรอสังเกตอาการในบริเวณที่ฉีดเป็นเวลาประมาณ 30 นาที

หากผู้ที่รับการฉีดวัคซีนไม่ได้ไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตรงตามนัดหมาย ควรปรึกษากับแพทย์เพื่อให้ประสิทธิภาพสูงสุดตามปริมาณที่กำหนด เพราะแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนยังสามารถติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโควิต-19 ไปสู่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนได้

ทั้งนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ประมาณ 66.7% และมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่า 90%

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่พบได้บ่อย คือ อาการปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ ปวดข้อ คลื่นไส้ หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด อย่างอาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย มีไข้สูง หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนบางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อย เช่น มีผื่นขึ้น เวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย มีเหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

นอกจากนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงในบางราย แต่พบได้น้อยมาก อาทิ

  • อาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ส่งผลให้มีอาการบวมบริเวณปาก ลิ้น คอและระบบทางเดินหายใจ เกิดผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
  • โรคเส้นเลือดฝอยรั่ว
  • กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillan Barre Syndrome)

แม้ว่าอาการข้างเคียงเหล่านี้จะพบได้ยาก หากตนเองหรือผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนมีอาการดังกล่าว ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย