รู้จักกับ Long COVID เมื่ออาการต่าง ๆ ไม่หายไปหลังรักษาโควิด-19

Long COVID (ลองโควิด) หรือ Post COVID-19 Condition เป็นภาวะที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังคงพบอาการผิดปกติจากโรคอยู่ โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้กับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 ทุกคน ทั้งผู้ที่เคยป่วยขั้นรุนแรงและไม่รุนแรง 

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มักจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวต่างกัน บางคนอาจค่อย ๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลา 10 วัน–2 สัปดาห์ หรือบางคนที่ป่วยรุนแรงอาจใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ Long COVID จะพบว่าอาการบางอย่างยังคงอยู่แม้จะตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้วก็ตาม 

รู้จักกับ Long COVID เมื่ออาการต่าง ๆ ไม่หายไปหลังรักษาโควิด-19

อาการ Long COVID เป็นอย่างไร 

ผู้ป่วยโควิด-19 แต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป เพราะภาวะ Long COVID ไม่มีลักษณะอาการเฉพาะตัว สามารถเกิดได้กับหลายระบบในร่างกายและยังส่งผลต่อด้านจิตใจด้วย โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น หายใจไม่อิ่ม ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย ไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก พูดลำบาก มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น กินอาหารไม่รู้รส ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ วิตกกังวล และซึมเศร้า เป็นต้น

บางกรณี ภาวะ Long COVID อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในบางราย เช่น ผื่นขึ้น ผมร่วง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดทำงานผิดปกติ ไตเกิดความเสียหายฉับพลัน มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ อ่อนเพลียขั้นรุนแรง มีปัญหาในการตัดสินใจ ภาวะทางจิตใจอย่างโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post–Traumatic Stress Disorder) เป็นต้น ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคโควิด-19 แต่ยังพบอาการที่เข้าข่ายภาวะ Long COVID ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

ภาวะ Long COVID รักษาได้หรือไม่

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะ Long COVID โดยเฉพาะ เนื่องจากทางการแพทย์ยังหาสาเหตุและกลไกการเกิดภาวะนี้ไม่พบ และผู้ป่วยแต่ละคนมักมีอาการต่างกัน ทำให้แพทย์ต้องใช้วิธีรักษาหลายอย่างร่วมกันตามอาการและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น 

  • การใช้ยาพ่นขยายหลอดลมหรือยาต้านการอักเสบเมื่อผู้ป่วยเกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจหรือแน่นหน้าอกจนหายใจไม่สะดวก  
  • ปรึกษาทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อกายภาพบำบัดอาการเหนื่อย 
  • ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับมือกับความวิตกกังวล 

เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะ Long COVID มากนัก ทั้งในด้านการรักษาและกลไกการเกิดโรค การป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ที่อาจเป็นสาเหตุจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด โดยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะอยู่นอกสถานที่พักอาศัย รักษาระยะห่างระหว่างผู้อื่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ รวมถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564