รู้จัก Probiotic ตัวช่วยเพื่อสุขภาพดีของคนรุ่นใหม่

ในแต่ละวันมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย บางคนจึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขภาพ อีกทั้งมลภาวะ งานหนัก การดื่มสังสรรค์ และความเครียดที่เราต้องเจอก็อาจส่งผลให้เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วภายในร่างกายที่ชื่อ Probiotic เสียสมดุลจนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยได้ 

Probiotic (โพรไบโอติก) คือจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียมีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ทั่วร่างกายมนุษย์ และยังพบได้ในอาหารบางชนิดและอาหารเสริม โดยสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วนี้จะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียภายในร่างกายด้วยการเพิ่มเชื้อที่ดีและลดแบคทีเรียก่อโรค จึงอาจช่วยลดปัญหาสุขภาพบางอย่างได้

คุณอาจคุ้นชื่อ Probiotic (โพรไบโอติก) บางชนิดจากโฆษณานมเปรี้ยวและโยเกิร์ต แต่จริง ๆ แล้ว โพรไบโอติกแบ่งออกได้หลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีคุณสมบัติที่ทั้งแตกต่างและคล้ายคลึงกันไป บทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับแบคทีเรียชนิดนี้ให้มากขึ้น รวมถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกและวิธีเลือกใช้อย่างปลอดภัย

Probiotic

ผลกระทบของไลฟ์สไตล์ต่อ Probiotic (โพรไบโอติก) และสุขภาพ

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า Probiotic (โพรไบโอติก) มีส่วนในการรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายหลายด้าน เช่น ปรับสมดุลลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหารและขับถ่าย กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่อาจลดความเสี่ยงและบรรเทาความรุนแรงของโรคติดเชื้อ และยังมีอีกหลายสรรพคุณที่มีงานวิจัยสนับสนุน แต่ประโยชน์ของ Probiotic (โพรไบโอติก) เหล่านี้ต้องการการศึกษาในแง่มุมอื่นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่มีเหมาะสมก็อาจมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและทำงานได้เป็นปกติ

แม้ว่าควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม แต่ประโยชน์ของ Probiotic (โพรไบโอติก) ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ดี เดิมทีร่างกายมนุษย์มีโพรไบโอติกอาศัยอยู่ในทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ ผิวหนัง ปอด หรือแม้แต่อวัยวะเพศ เมื่อจำนวน Probiotic ในร่างกายอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็สามารถทำงานได้เป็นปกติ แต่หากเชื้อชนิดนี้อ่อนแอและมีจำนวนลดลงก็อาจทำให้ร่างกายผิดปกติได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้โพรไบโอติกลดลงอาจมาเป็นผลจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ความเครียด
  • การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ เราสามารถชดเชย Probiotic (โพรไบโอติก) ภายในร่างกายได้หลายวิธี เบื้องต้นอาจเน้นการดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มโพรไบโอติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การกินอาหารที่มีโพรไบโอติก ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารที่ผ่านการหมัก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ หรือชาหมัก (Kombucha) แต่สิ่งที่ควรระวังจากอาหารเหล่านี้ คือ ปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่ค่อนข้างสูง จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนอาหารอีกประเภทที่ควรกินควบคู่กัน คือ ผัก ผลไม้ และธัญพืชขัดสีน้อย เพราะเป็นแหล่งของพรีไบโอติก (Prebiotics) หรือใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber) ที่เป็นอาหารของ Probiotic (โพรไบโอติก) โดยพรีไบโอติกอีกชนิดที่อาจพอรู้จักกัน คือ อินนูลิน (Inulin) สามารถพบได้ในข้าวสาลี กล้วย กระเทียม และรากชิโครี่ (Chicory Root) ดังนั้น การได้รับอาหารเหล่านี้ควบคู่กันจึงช่วยเพิ่มจำนวนและความแข็งแรงให้กับ Probiotic ในร่างกาย เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้แบคทีเรียในร่างกายสมดุลและได้รับประโยชน์จาก Probiotic มากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม โพรไบโอติกในอาหารนั้นไวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะความร้อน เมื่ออาหารผ่านความร้อนหรืออุณหภูมิเปลี่ยนไป เชื้อส่วนมากอาจตายและทำให้ร่างกายได้รับ Probiotic (โพรไบโอติก) ได้ไม่เต็มที่ ในปัจจุบันจึงมีโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งเหมาะสำหรับคนวัยทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาเลือกซื้ออาหารที่มีโพรไบโอติกและพรีไบโอติกมากนัก จึงอาจช่วยให้ได้รับประโยชน์จาก Probiotic (โพรไบโอติก) ได้ง่ายขึ้นอีกทาง

การเลือกใช้และผลข้างเคียงจาก Probiotic (โพรไบโอติก)

เนื่องจากร่างกายของคนเรามีเชื้อแบคทีเรียดีอยู่แล้ว การได้รับ Probiotic (โพรไบโอติก) เพิ่มจึงมักไม่เป็นอันตราย โดยเฉพาะจากอาหาร แม้ว่าบางส่วนอาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อย ๆ ในช่วงแรกของการใช้ อย่างเข้าการห้องน้ำบ่อยขึ้น ปวดท้อง ท้องอืด แต่อาการเหล่านี้มักไม่เป็นอันตรายและหายได้เองภายในไม่กี่วัน

สำหรับการเลือกใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกที่มีจำนวนเชื้อมากกว่าที่พบในอาหาร อาจจำเป็นต้องรู้จักวิธีเลือกเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโพรไบโอติกอย่างเต็มที่และสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยอาจใช้เทคนิคต่อไปนี้ในการเลือกซื้อ

  • ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงประโยชน์ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง ข้อจำกัด การเก็บรักษา และผลข้างเคียง
  • เลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกจากผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาหรืออย. เท่านั้น ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณเกินจริง 
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุสายพันธุ์ของเชื้อและมีเชื้อหลายสายพันธุ์ เพราะเชื้อแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติแตกต่างกัน รวมทั้งควรเลือกสายพันธุ์ที่สามารถยึดเกาะลำไส้ได้ดีเพื่อเพิ่มโอกาสให้เชื้อสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกขับออกผ่านกลไกร่างกาย
  • เลือกผลิตภัณฑ์ซินไบโอติก (Synbiotic) หรืออาหารเสริมที่มีทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเชื้อเพื่อไปเพิ่มจำนวนและความแข็งแรงของเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกาย
  • เลือกผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่เป็นเชื้อมีชีวิต เพราะโพรไบโอติกนั้นไวต่อสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและการสัมผัสกับกรดในร่างกายอาจทำให้เชื้อบางส่วนตาย จึงควรเลือกซื้อโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อกินเข้าไปแล้ว เชื้อจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกอย่างน้อย 1 พันล้านตัวหรือมากกว่าเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเชื้อเมื่อเจอกับกรดภายในร่างกาย
  • เลือกอาหารเสริมที่บรรจุภัณฑ์แข็งแรง ไม่มีรอยแตกร้าวหรือชำรุด แจ้งวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน

สำหรับเด็ก คนสูงอายุ คนท้อง คนที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด คนที่อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค และคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคร้ายแรง และโรคที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ Probiotic ในรูปแบบอาหารเสริม เพราะคนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนทั่วไปที่ใช้อาหารเสริม Probiotic และพบผลข้างเคียงรุนแรง อย่างท้องเสียรุนแรงติดต่อกันหลายวัน อ่อนเพลีย เป็นไข้ หนาวสั่น หรือเกิดอาการอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์

หากคุณเป็นคนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับงานหนัก ความเครียด และผ่อนคลายด้วยการสังสรรค์อยู่เป็นประจำก็อาจทำให้แบคทีเรียในร่างกายเสียสมดุลและเกิดปัญหาสุขภาพจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ คุณควรปรับวิธีการใช้ชีวิต เลิกสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และใส่ใจในการดูแลตัวเองให้มากขึ้น ทั้งอาหารการกิน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย หากไม่มีเวลาอาจหาตัวช่วยที่สะดวก อย่างอาหารเสริม Probiotic (โพรไบโอติก) เพื่อชดเชยสารอาหารบางประเภทที่ร่างกายขาดไป และเพื่อให้ได้รับประโยชน์จาก Probiotic อย่างเต็มที่และปลอดภัย ควรใช้ตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ