ยาต้านไวรัส HIV อีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยง

การใช้ยาต้านไวรัส HIV นั้นมีจุดประสงค์หนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ หากพูดถึงวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีคนส่วนใหญ่คนคงนึกถึงเพียงการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งการสวมถุงยางนั้นเป็นวิธีป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อที่ปลอดภัยและลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่หากใช้ร่วมกับยาต้านไวรัส HIV ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นหากใช้อย่างถูกต้อง บางคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับที่เรียกว่าการป้องกันเอชไอวีชนิด PrEP และชนิด PEP  มาบ้างแล้ว หรือหากยังไม่รู้จักก็สามารถศึกษาได้จากบทความนี้ได้

ยาต้านไวรัส HIV

PrEP คืออะไร ?

PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) หรือเพร็พ เป็นการรับประทานยาต้านไวรัส HIVก่อนการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ยาชนิดนี้อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์กว่าร้อยละ 90 และจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นถึงกว่าร้อยละ 70 ยานี้ใช้รับประทานเป็นประจำตามคำสั่งแพทย์ ผู้ที่ควรใช้ยา PrEP เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อและผู้ที่ทราบว่ามีโอกาสเสี่ยงแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การใช้ยา PrEP ร่วมกับถุงยางอนามัยนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ควรไปพบแพทย์ผลทุก ๆ ประมาณ 3 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพและติดตามผลการรักษา

ผู้ที่ควรใช้ PrEP คือผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ HIV ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมหรือโรค ดังนี้

  • ผู้ที่คู่นอนมีเชื้อเอชไอวี และคู่นอนอยู่ในช่วงใช้ยาต้านไวรัสและรอดูผลการรักษา
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดที่มีการฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ชายผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

PrEP อาจมีความเสี่ยงและข้อควรระวัง ดังนี้

  • ผู้รับการรักษาต้องไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี และต้องตรวจสุขภาพตามขั้นตอนทางการแพทย์ก่อนจึงจะสามารถรับยาได้
  • อาจทำให้ตรวจเจอเชื้อไวรัสได้ช้าลงในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงก่อนการใช้ยา
  • เป็นเพียงตัวช่วยเสริมการป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อกระดูกและไตได้
  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนและปวดศีรษะ อ่อนแรง ซึ่งมักดีขึ้นได้เองในเวลานไม่นาน
  • ต้องรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนจึงมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันไวรัส HIV
  • อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ทุกครั้ง

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำอาจพิจารณาใช้ PrEP เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

PEP คืออะไร?

ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) หรือยาเป๊ป เป็นยาที่ใช้หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ควรได้รับยา PEP ทันทีหรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง ยิ่งได้รับเร็วยิ่งอาจลดความเสี่ยงได้มากโดยรับประทานวันละ 1-2 ครั้งต่อเนื่องกัน 28 วัน หากรับประทานอย่างถูกต้อง ต่อเนื่องจะมีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้สูงมาก

ผู้ที่ควรเข้ารับ PEP อาจมี ดังนี้

  • ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อ ถุงยางอนามัยฉีกขาด เป็นต้น
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดที่มีการฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่ถูกกระทำชำเรา
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือน
  • บุคลากรสาธารณสุขที่ถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ

PEP นั้นมีข้อควรระวังและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนหรือปวดศีรษะ และอ่อนล้า
  • ไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์
  • ควรรับยาทันทีหรือเร็วที่สุดหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง
  • ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
  • อาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดจึงควรแจ้งเแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ทุกครั้ง

วิธีอื่น ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV

ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ดังเช่น

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ทำงานดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอยู่เสมอ
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เนื่องจากบางคนอาจไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ครั้งละหลายคนพร้อมกัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา ขาดสติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้
  • ใช้เข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้ง และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หากมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่ตื่นตัวถึงการป้องกันการติดเชื้ออย่างถูกต้อง ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จึงควรเอาใจใส่และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กันไว้ย่อมดีกว่าแก้เสมอ