ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)

ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)

ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators) เป็นยารักษาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะความดันเลือดปอดสูง โดยออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ช่วยลดการตีบแคบหรือหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปสู่หัวใจได้ดียิ่งขึ้น 

ยาขยายหลอดเลือดนั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มยา แต่ละกลุ่มยาออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดในบริเวณที่ต่างกันออกไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตัวยาที่เหมาะแก่ผู้ป่วย เช่น ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers: ARB) ยาต้านเอนไซม์เอซีอี (ACE Inhibitors) ยาปิดกั้นแคลเซียม (Calcium Channel Blocker) ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) หรือยาไฮดราลาซีน (Hydralazine)    

ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาขยายหลอดเลือด

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาขยายหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางสุขภาพหรือกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ในปัจจุบัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน สมุนไพร อาหาร หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • แพทย์อาจไม่แนะนำให้ผู้ที่มีประวัติเป็นแองจีโออีดีมา (Angioedema) หรือป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติกบางชนิด (Rheumatic Heart Disease) กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาตาย (Right ventricular infartion) ภาวะภูมิไวเกินที่รุนแรง (Hypersensitivity) โรคความดันโลหิตต่ำที่รุนแรง หรือกำลังตั้งครรภ์ รับประทานยาขยายหลอดเลือด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงเกี่ยวกับการใช้ยานี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวมารดาและเด็ก
  • แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยากลุ่มนี้ หากผู้ป่วยต้องเข้ารับผ่าตัดหรือทำทันตกรรมใด ๆ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เพราะอาจไปขัดขวางการทำงานของยา ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากยาขยายหลอดเลือดอาจทำให้เวียนศีรษะได้
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาขยายหลอดเลือดตามที่ระบุบนฉลากหรือตามคำสั่งของแพทย์ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ยาขยายหลอดเลือดมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับความโลหิตเท่านั้น ไม่อาจใช้รักษาโรคได้ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาขยายหลอดเลือด

การใช้ยาขยายหลอดเลือดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่หลากหลายและอาจรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ไอแห้ง คัดจมูก อาการบวมน้ำ อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดข้อต่อ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ รวมถึงอาการทางผิวหนัง อาการแพ้ และปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis)    

หากผู้ป่วยพบสัญญาณอาการดังกล่าวหรืออาการที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงมากขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ปรับเปลี่ยนชนิดยาหรือปริมาณยาให้เหมาะสม หรือรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ปริมาณการใช้ยาขยายหลอดเลือด

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาขยายหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ จะมีดังนี้ 

1. ยาลิซิโนพริล (Lisinopril)

รูปแบบยา : ยาเม็ด 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาลิซิโนพริล

2. ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine)

รูปแบบยา : ยาเม็ด

ปริมาณการใช้ยาชนิดเม็ดจะต่างกันตามช่วงวัย โดยเด็กอายุ 6–7 ปี จะเริ่มใช้ยาที่ปริมาณ 2.5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยอาจเพิ่มปริมาณยาจนถึง 5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน หลังใช้ยาไปแล้ว 4 สัปดาห์ตามที่แพทย์เห็นสมควร  

ผู้ใหญ่จะเริ่มใช้ยาที่ 5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยแพทย์อาจปรับปริมาณยาของผู้ป่วยแต่ละคนหลังใช้ยาไปแล้วอย่างน้อย 1–2 สัปดาห์ สำหรับผู้สูงอายุจะเริ่มที่ 2.5 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน     

3. ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine)

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาชนิดเม็ดเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยาอื่นอย่างยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) และยาขับปัสสาวะ เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ จะเริ่มที่ 40–50 มิลลิกรัม แบ่งรับประทานวันละหลายครั้ง โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณหากจำเป็น ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน 

ในกรณีของภาวะหัวใจวายในผู้ใหญ่อาจให้เริ่มใช้ยาชนิดเม็ดร่วมกับยากลุ่มไนเตรทที่ปริมาณ 25 มิลลิกรัม 3–4 ครั้ง/วัน โดยอาจเพิ่มปริมาณยาหากจำเป็น ปริมาณยาต่อเนื่องจะอยู่ที่ 50–75 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน    

4. ยาดอกซาโซซิน (Doxazosin)

รูปแบบยา : ยาเม็ด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาดอกซาโซซิน

5. ยาโคลนิดีน (Clonidine)

รูปแบบยา : ยาเม็ด ยาฉีด และแผ่นแปะผิวหนัง

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาโคลนิดีน