มะเร็งเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma)

ความหมาย มะเร็งเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma)

Mesothelioma เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดกับเซลล์มีโซทีเลียม (Mesothelium) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อย่างเยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง หน้าอก หัวใจ หรืออัณฑะ โดยเยื่อหุ้มปอดจะเป็นบริเวณที่พบการเกิดมะเร็งได้บ่อยมากกว่าบริเวณอื่น 

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักตรวจพบมะเร็ง Mesothelioma เมื่อเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการประคับประคอง หรือควบคุมอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น

มะเร็งเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma)

อาการของ Mesothelioma

อาการของ Mesothelioma มักจะค่อย ๆ แสดงความผิดปกติออกมาในระยะเวลาหลายปี โดยอาการจะแตกต่างกันตามบริเวณที่เกิดมะเร็ง เช่น

  • หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มปอด อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก รู้สึกเจ็บขณะไอ หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย มีไข้ขึ้นสูงและเหงื่อออกมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน พบก้อนเนื้อใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือนิ้วปุ้ม (Clubbing Fingers)
  • หากเกิดบริเวณเยื่อบุช่องท้อง อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง บวมบริเวณท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ ท้องเสียหรือท้องผูก
  • หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ อาจส่งผลให้หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก
  • หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มอัณฑะ อาจส่งผลให้ลูกอัณฑะบวม

เนื่องจาก Mesothelioma เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย และอาการต่าง ๆ อาจทับซ้อนกับโรคอื่น ผู้ป่วยจึงอาจเข้าใจว่าอาการต่าง ๆ เป็นผลมาจากโรคอื่น หากพบอาการในข้างต้นอย่างเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน

สาเหตุของ Mesothelioma

มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวมากผิดปกติและลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย โดยในกรณี Mesothelioma ความผิดปกติของเซลล์ดังกล่าวจะเกิดกับ Mesothelium ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในบริเวณหน้าอก ช่องท้อง หัวใจ หรืออัณฑะ 

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนที่ส่งผลให้เกิด Mestothelioma แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการสูดดมหรือกลืนแร่ใยหินเป็นระยะเวลานาน หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • การอยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแร่ใยหิน เนื่องจากเศษแร่ใยหินอาจติดมากับผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้ 
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดมะเร็ง Mesothelioma อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • ประวัติการใช้รังสีรักษาบริเวณทรวงอก ผู้ที่มีประวัติการรักษาด้วยรังสีบริเวณทรวงอก เช่น การใช้รังสีรักษามะเร็งบริเวณทรวงอก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง Mesothelioma

การวินิจฉัย Mesothelioma

ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิด Mesothelioma โดยเฉพาะประวัติการเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน รวมถึงตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจของเหลวบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างบริเวณช่องอก ช่องท้อง หรือเยื่อหุ้มหัวใจ 

เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้พบได้น้อย ผลการวินิจฉัยในเบื้องต้นจึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ แพทย์จึงจะนำผลการตรวจในขั้นต้นที่ได้เป็นเกณฑ์ในการเลือกวิธีตรวจอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเกิดจาก Mesothelioma ดังนี้

  • การตรวจเลือด แม้การตรวจเลือดอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง Mesothelioma แต่โดยส่วนมาก ผู้ป่วยมะเร็งชนิดดังกล่าวมักมีสารบางอย่างในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป
  • การตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อ (Biopsy) แพทย์จะผ่าตัดหรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์นำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวบริเวณที่เกิดมะเร็งไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจว่าความผิดปกติของเนื้อเยื่อและเซลล์ของผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับ Mesothelioma หรือไม่ หากแพทย์ตรวจพบมะเร็ง แพทย์จะนำผลการตรวจที่ได้ไปใช้ในการวางแผนการรักษาขั้นต่อไป
  • การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests) แพทย์อาจวินิจฉัยผู้ป่วยโดยการเอกซเรย์ (X–Ray) การทำซีที สแกนหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scans) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI: Magnetic Resonance Imaging) หรือการทำเพทสแกน (PET Scan) นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีดังกล่าวเพื่อตรวจการลุกลามของมะเร็ง หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง Mesothelioma

การรักษา Mesothelioma

ในการรักษา Mesothelioma ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการลุกลามของมะเร็ง และบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เนื่องจากการวินิจฉัยส่วนใหญ่มักพบ Mesothelioma เมื่อมะเร็งได้ลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ และไม่สามารถรักษาได้ โดยวิธีที่แพทย์ใช้ในการรักษาจะพิจารณาจากสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ และตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง ซึ่งแพทย์อาจใช้หลายวิธีในการรักษาร่วมกัน เช่น

การผ่าตัด

ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่ามะเร็งยังไม่ลุกลาม แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การผ่าตัดอาจทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เท่านั้น เนื่องจากแพทย์อาจไม่สามารถกำจัดมะเร็งได้ทั้งหมด โดยวิธีผ่าตัดที่แพทย์มักใช้ในการรักษา เช่น 

  • การผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวสะสมในช่องปอด เนื่องจากภาวะของเหลวสะสมในช่องปอดจากมะเร็งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก แพทย์จึงอาจใช้สายยางสอดเข้าไปในร่างกายบริเวณช่วงอกเพื่อระบายของเหลวดังกล่าว หรือในบางกรณีแพทย์อาจฉีดยาบางชนิดเพื่อป้องกันภาวะของเหลวสะสมในปอดซ้ำ (Pleurodesis)
  • การผ่าตัดนำเยื่อหุ้มปอดบริเวณที่เป็นมะเร็งออก เพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็ง และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย
  • การผ่าตัดนำเนื้อปอดหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงที่เป็นมะเร็งออก เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย นอกจากนี้การผ่าตัดดังกล่าวยังช่วยให้แพทย์สามารถใช้รังสีรักษาบริเวณปอดได้สะดวกขึ้น
  • การผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็งบริเวณช่องท้อง แพทย์จะผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็งบริเวณช่องท้องให้ได้มากที่สุด และอาจใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เพิ่มเติม

เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)

เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาเพื่อกำจัดหรือควบคุมเซลล์ที่เติบโตหรือแบ่งตัวเยอะผิดปกติในร่างกาย ซึ่งในการรักษา Mesothelioma แพทย์อาจเลือกยาชนิดรับประทานหรือฉีดเพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็งที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งซ้ำ

รังสีรักษา (Radiation Therapy)

แพทย์อาจรักษาโดยการใช้รังสีพลังงานสูง อย่างรังสีเอกซเรย์ หรือโปรตอน เพื่อกำจัดหรือควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) 

เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาบางชนิดเพื่อกำจัดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายโดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย โดยแพทย์จะเลือกชนิดของยาที่เหมาะสมจากการตรวจลักษณะความผิดปกติของผู้ป่วยทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เช่น การให้ยาบรรเทาอาการปวดหากผู้ป่วยมีอาการปวด

ภาวะแทรกซ้อนของ Mesothelioma

ผู้ป่วย Mesothelioma อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดมะเร็ง ในกรณีที่มะเร็งเกิดบริเวณเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยอาจเกิดอาการต่าง ๆ จากการที่ก้อนเนื้อมะเร็งแพร่กระจายและเบียดอวัยวะต่าง ๆ ในช่องอก เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเจ็บจากการกดทับของก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณเส้นประสาทและไขสันหลัง หรือเกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) 

การป้องกัน Mesothelioma

เนื่องจาก Mesothelioma เป็นมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องกับการสูดดมหรือกลืนแร่ใยหินเป็นระยะเวลานาน จึงอาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวให้มากที่สุด แต่หากต้องทำงานหรือประกอบอาชีพที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ อย่างช่างไฟฟ้าหรือช่างประปา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนการทำงานทุกครั้ง อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนรับประทานอาหารและก่อนกลับบ้าน หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการป้องกันเพิ่มเติม