มะเร็งรังไข่

ความหมาย มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตผิดปกติในรังไข่เพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะอยู่ในระยะลุกลาม แต่เมื่อแสดงอาการแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการท้องอืดหรือท้องบวม น้ำหนักลด และอาจเจ็บในบริเวณท้องน้อยหรือเชิงกรานร่วมด้วย

มะเร็งรังไข่เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในเพศหญิง การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์สามารถรักษามะเร็งรังไข่ได้หลายวิธี ส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดและการใช้เคมีบำบัด     

มะเร็งรังไข่

อาการของมะเร็งรังไข่

โรคมะเร็งรังไข่ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการที่เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น เช่น ท้องอืดบ่อยครั้ง ท้องบวม ท้องผูก น้ำหนักลด อิ่มง่าย รู้สึกอึดอัดบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อยผิดปกติหรืออ่อนเพลียอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ไม่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งรังไข่ และอาจเป็นอาการของโรคหรือภาวะอื่นได้เช่นกัน

หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการท้องอืดบ่อยครั้งภายใน 1 เดือน มีอาการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับโรคมะเร็งรังไข่และไม่หายไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปหรือสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม

สาเหตุของมะเร็งรังไข่

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในรังไข่จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง โดยเซลล์แต่ละชนิดจะส่งผลให้เกิดเนื้องอกที่แตกต่างกัน ได้แก่ เนื้องอกที่เกิดจากเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial Tumors) เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ในรังไข่ (Germ Cell Tumors) และเนื้องอกที่เกิดจากบริเวณเนื้อเยื่อในรังไข่ (Stromal Tumors) 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ ได้แก่

  • การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy)
  • อายุมากกว่า 55 ปี 
  • มีความผิดปกติของยีนกลายพันธุ์ โดยเฉพาะยีน BRCA1 และ BRCA2 รวมถึงสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • มีประจำเดือนเร็วหรือประจำเดือนหมดช้า
  • มีภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หรือใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากบางชนิด
  • เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ หรือกลุ่มอาการลินช์ (Lynch Syndrome)
  • ไม่เคยตั้งครรภ์ 
  • มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือป่วยด้วยโรคอ้วน

การวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ 

แพทย์จะซักถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัวเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ และตรวจร่างกายของผู้ป่วยในเบื้องต้น จากนั้นแพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง อาทิ

การตรวจภายใน 

แพทย์จะตรวจในช่องคลอดและใช้มืออีกข้างกดลงบนหน้าท้อง เพื่อตรวจดูขนาดของรังไข่ ของเหลวที่อาจสะสมอยู่ในหน้าท้อง รวมทั้งแพทย์อาจตรวจปากมดลูกและอวัยวะเพศภายนอกทั้งหมด ท้องช่วงล่าง ทวารหนักและขาหนีบ

การตรวจจากภาพถ่าย 

การตรวจมะเร็งรังไข่จากภาพถ่ายจะช่วยให้แพทย์เห็นขนาดและรูปทรงของรังไข่ และการกระจายตัวของมะเร็งจากรังไข่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการตรวจด้วยภาพถ่ายทำได้หลายวิธี เช่น การอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางเคมี (PET Scan) เป็นต้น

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์ทราบถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม โดยจะตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ พร้อมทั้งตรวจหาค่าบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (Cancer Antigen 125: CA-125) และตรวจวัดปริมาณสารบ่งชี้มะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) หรือเอนไซม์แลคเตทดีไฮโดรจีเนส (Lactate Dehydrogenase: LDH)

การตรวจความผิดปกติของพันธุกรรม (Genetic Testing)

แพทย์จะใช้ตัวอย่างเลือดในการตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 หรือยีนชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นวิธีการตรวจที่เหมาะสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่สูง

การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)

แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กในระหว่างการผ่าตัด ก่อนจะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยว่าเนื้องอกดังกล่าวใช่มะเร็งหรือไม่ และเป็นมะเร็งชนิดใด

การรักษามะเร็งรังไข่

นอกจากการแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอและบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์จะวางแผนการรักษามะเร็งรังไข่โดยคำนึงถึงสุขภาพ การตอบสนองของชนิดของมะเร็งต่อวิธีการรักษาหรือยาที่ใช้ และระยะของโรค ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่อาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

การผ่าตัด

แพทย์จะผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งบริเวณรังไข่และปีกมดลูกออก แต่หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังรังไข่ทั้ง 2 ข้างหรือกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือมดลูก แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาอวัยวะดังกล่าวออกไปด้วย หรือผ่าตัดเอาเนื้องอกที่แพร่กระจายออกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

การทำเคมีบำบัด

เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อกำจัดและขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย มีทั้งยาชนิดรับประทาน และการฉีดยาผ่านทางหลอดเลือดดำหรือทางช่องท้อง โดยแพทย์อาจใช้รักษาก่อนการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด และใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายในช่องท้องแล้ว

การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy)

เป็นการใช้ยาหรือสารบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง ส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายในภายหลัง โดยก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จำเป็นต้องทดสอบการตอบสนองของยาต่ออาการของโรค เพื่อการใช้ยาในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การฉายรังสี

เป็นการใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งในรังไข่ เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือมีเซลล์มะเร็งเกิดซ้ำ โดยตัวอย่างของการฉายรังสีที่นำมาใช้รักษามะเร็งรังไข่ ได้แก่ การใช้รังสีรักษาระยะไกล การฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy) หรือการฉายรังสีร่วมพิกัดบริเวณลําตัว (Stereotactic body radiation therapy: SBRT)

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่มีอาการรุนแรงและโรคลุกลาม จะได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งจะเป็นวิธีที่เน้นไปยังการบรรเทาความเจ็บปวดและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการรักษา โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ พยาบาล และครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องผูก เกิดภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร อ่อนเพลีย ตัวบวมหรือมีอาการท้องมาน ท่อปัสสาวะหรือลำไส้อุดตัน หรือเกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากมีอาการลุกลามของโรคมะเร็งรังไข่

นอกจากตัวโรคแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งรังไข่ได้ด้วย เช่น การติดเชื้อ เกิดรอยช้ำง่ายหรือเลือดไหลผิดปกติ ไตได้รับความเสียหาย เกิดปัญหาด้านการได้ยิน ไส้เลื่อน ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่มีประจำเดือน หรือลำไส้ทะลุ เป็นต้น 

การป้องกันมะเร็งรังไข่

วิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่อาจทำได้โดยการดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การใช้ยาคุมกำเนิด หรือปรึกษาแพทย์หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่สูง เพราะอาจจำเป็นจะต้องตัดรังไข่ออกทั้งหมด เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ในอนาคต