ภูมิแพ้ขึ้นตา

ความหมาย ภูมิแพ้ขึ้นตา

ภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis/Allergic Pink Eye) คือ การอักเสบบริเวณดวงตาที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อบุตาต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้มีอาการตาแดง คัน น้ำตาไหล ไวต่อการรับแสง โดยตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ หญ้า ไรฝุ่น น้ำหอม เครื่องสำอาง มลพิษ ขนสัตว์ และมักเกิดอาการที่เยื่อบุตา ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอม ภูมิแพ้ขึ้นตาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น แต่อาจทำให้ดวงตาระคายเคืองและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

ภูมิแพ้ขึ้นตา

อาการของภูมิแพ้ขึ้นตา

อาการทั่วไปของภูมิแพ้ขึ้นตาได้แก่ ดวงตาแดงก่ำ แฉะ ไวต่อแสง คัน และทำให้เปลือกตาบวม ภูมิแพ้ขึ้นตามักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอาการแพ้สารต่าง ๆ หรือขนสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดอาการต่อไปนี้

  • ดวงตาระคายเคืองและคัน
  • ตาขาวเป็นสีชมพูหรือแดง
  • ดวงตาชื้นแฉะ เนื่องจากมีปริมาณน้ำในดวงตามากขึ้น
  • เปลือกตาแดง บวม และปวด
  • เยื่อบุตาใต้เปลือกตาบนบวม
  • อาการมักอักเสบอย่างรวดเร็วและอาจเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง

อาการภูมิแพ้ขึ้นตาอาจคล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัส (Viral Conjunctivitis) และแบคทีเรีย (Bactirial Conjunctivitis) ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากมีอาการอักเสบรุนแรงโดยเฉพาะผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบของกระจกตาได้

สาเหตุของภูมิแพ้ขึ้นตา

ภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศสัมผัสกับดวงตา ทำให้อาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือทันที ตามฤดูกาล หรือเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ของแต่ละคน ในบางกรณีภูมิแพ้ขึ้นตาเกิดจากปฏิกิริยาของยาบางชนิด ยาหยอดตา หรือน้ำยาสำหรับคอนแทคเลนส์

ปฏิกิริยาการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งมีหน้าที่ขับไล่สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ให้ออกจากร่างกาย เช่น

  • ไรฝุ่นและฝุ่นละอองในครัวเรือน หรือจากต้นหญ้าและต้นไม้
  • ขนสัตว์
  • เชื้อรา
  • กลิ่นสารเคมี เช่น น้ำหอมหรือน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

สาเหตุการเกิดภูมิแพ้ขึ้นตา แบ่งตามประเภทของอาการได้ดังนี้

  • ภูมิแพ้ขึ้นตาเฉียบพลัน (Acute Allergic Conjunctivitis) เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองทราบและกินเวลาไม่นาน มักทำให้ดวงตามีสีแดง คัน น้ำตาไหล และเปลือกตาบวม หรืออาจมีอาการน้ำมูกไหลร่วมด้วย ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการเพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น
  • ภูมิแพ้ขึ้นตาตามฤดูกาล (Seasonal Allergic Conjunctivitis) อาการแพ้จะไม่รุนแรงแต่กินเวลานานและอาจมีอาการน้ำมูกไหลและเจ็บคอร่วมด้วย มักเกิดขึ้นในฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่มีฝุ่นละอองมาก ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศในแต่ละวัน เช่น ฝุ่นละอองจากต้นหญ้าที่เกิดขึ้นมากในช่วงฤดูร้อนของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
  • ภูมิแพ้ขึ้นตาเรื้อรัง (Chronic Allergic Conjunctivitis/ Perennial allergic conjunctivitis) อาการของภูมิแพ้ชนิดนี้เกิดขึ้นเรื้อรังตลอดปีแต่ไม่รุนแรง มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบในบ้าน เช่น เชื้อรา ไรฝุ่น หรือขนสัตว์ โดยอาจเกิดขึ้นร่วมกับการจามและน้ำมูกไหล ซึ่งเป็นผลจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เรื้อรัง (Chronic Allergic Rhinitis/ Parennial Allergic Rhinitis)

การวินิจฉัยภูมิแพ้ขึ้นตา

แพทย์จะตรวจดวงตาและถามประวัติการแพ้ของผู้ป่วยรวมถึงประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว และรวมถึงประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว และสังเกตอาการแพ้จากสีของดวงตาและการบวมของเปลือกตา ซึ่งเป็นสัญญาณของภูมิแพ้ขึ้นตา และอาจใช้วิธีทดสอบต่อไปนี้

  • การพลิกเปลือกตาด้านในออกเพื่อตรวจดูสิ่งแปลกปลอม
  • การตรวจโดยใช้เครื่องออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscope)
  • การตรวจสอบความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity Test)
  • การเก็บเยื่อบุตา (Conjunctival Swabs) หรือการขูดเนื้อเยื่อ เพื่อตรวจสอบเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่าอีโอซิโนฟิล (Eosinophil) ในการตอบสนองต่ออาการแพ้ต่าง ๆ
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เพื่อทราบถึงสารก่อภูมิแพ้และการตอบสนองของร่างกาย
  • การตรวจเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการสร้างโปรตีนและสารภูมิต้านทานแอนติบอดี้ (Antibody) ที่จำเป็นต่อการป้องกันสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละอองหรือรา

การรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

  • การรักษาด้วยตนเอง
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตาเพื่อลดอาการคันและอักเสบ และใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาชนิดต้านภูมิแพ้
    • ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่ภายหลังการสัมผัส หยอดตา หรือทาขี้ผึ้งสำหรับดวงตา
    • ประคบเย็นบนดวงตา เพื่อลดอาการคันและการอักเสบ
    • หากอาการแพ้ไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
    • ผู้มีภูมิแพ้ขึ้นตาชนิดเรื้อรังควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ไรฝุ่น หรือขนแมว เป็นต้น
    • เลือกใช้ยาหยอดตาให้เหมาะสมกับอาการ

หากผู้ป่วยไม่ทราบสาเหตุและอาการยังไม่ดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองเป็นเวลา 3-4 วัน ควรปรึกษาแพทย์และไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการต่อไปนี้

  • ดวงตาแดงก่ำมากขึ้น
  • เจ็บปวดรุนแรงบริเวณดวงตา
  • มีตุ่ม หรือแผลพุพองบริเวณดวงตา เปลือกตา หรือจมูก
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณดวงตาเมื่อถูกแสงแดดและแสงไฟ
  • ความสามารถในการมองเห็นลดลง
  • การรักษาด้วยแพทย์
    • ผู้มีภูมิแพ้เฉียบพลันควรใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของยาต้านภูมิแพ้ ร่วมกับยากระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด วันละ 4 ครั้งแต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
    • ผู้มีภูมิแพ้ตามฤดูกาลควรใช้ยาหยอดตาที่ประกอบด้วยยาต้านภูมิแพ้ ยาระงับการหลั่งสารมาสต์เซลล์ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหลั่งสารที่ทำให้มีอาการแพ้ หรือยาคีโตติเฟนที่ช่วยป้องกันอาการคันจากภูมิแพ้ โดยป้องกันการหลั่งสารเคมีที่ทำให้มีอาการอาการแพ้เช่นกัน
    • การรับประทานยาต้านภูมิแพ้ อาจมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ก่อนที่อาการต่าง ๆ จะพัฒนา ยาต้านภูมิแพ้ช่วยรักษาอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร ตัวอย่างยาต้านภูมิแพ้ ได้แก่
      • ยาไดเฟนไฮดรามีน ออกฤทธิ์ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
      • ยาต้านภูมิแพ้ชนิดทำให้ง่วงนอน รับประทานก่อนนอนเพื่อลดอาการคันในเวลากลางคืน
      • ยาต้านภูมิแพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยาเฟกโซเฟนาดีน ลอราทาดีน เดสลอราทาดีน เซทิริซีน และลีโวเซทิไรซีน

หมายเหตุ: ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรกรณีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ภาวะแทรกซ้อนของภูมิแพ้ขึ้นตา

ภูมิแพ้ขึ้นตามักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นซ้ำหากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหากดวงตามีอาการระคายเคือง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว

การป้องกันภูมิแพ้ขึ้นตา

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภูมิแพ้ขึ้นตา ได้แก่

  • ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่เป็นประจำ
  • ล้างมือก่อนการหยอดยาหรือทาขี้ผึ้งให้ตนเองและผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพ้
  • ซักอุปกรณ์การนอนต่าง ๆ เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอกเพื่อลดไรฝุ่น ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญและอยู่ใกล้ตัว
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้น
  • ใช้เครื่องกรองอากาศภายในบ้านหรือสำนักงาน
  • ใช้เครื่องปรับอากาศหรือปิดหน้าต่างในฤดูกาลที่มีฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้มาก เช่น ช่วงที่มีละอองเกสรดอกไม้
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สารเคมี หรือการย้อมสี