ฟอสฟอรัส กับคำแนะนำในการบริโภค

ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุสำคัญที่อยู่ในร่างกายปริมาณมากรองจากแคลเซียม โดยอยู่ในรูปของสารประกอบฟอสเฟต ซึ่งช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และช่วยให้ร่างกายนำพลังงานจากอาหารออกมาใช้ แต่หากร่างกายมีระดับฟอสฟอรัสสูงหรือต่ำเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดกระดูก และป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ดังนั้น เราควรรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสในปริมาณเหมาะสมตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งแตกต่างกันไปตามช่วงวัยด้วย

ฟอสฟอรัส

หน้าที่และความสำคัญของฟอสฟอรัส

ร่างกายคนเราจำเป็นต้องใช้ฟอสฟอรัสในการซ่อมแซมกระดูกและฟันที่สึกหรอ ทั้งยังช่วยในการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดย 85 เปอร์เซ็นต์ของฟอสฟอรัสในร่างกายนั้นพบได้ในกระดูก ส่วนที่เหลือจะพบตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ ฟอสฟอรัสยังมีหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ
  • ซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ
  • ช่วยกรองของเสียที่ไต
  • ผลิตสารพันธุกรรม DNA และ RNA
  • ช่วยในกระบวนการเก็บพลังงานและใช้พลังงานของร่างกาย
  • รักษาสมดุุลการใช้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น วิตามินดี ไอโอดีน สังกะสี และแมกนีเซียม เป็นต้น
  • ลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย

ระดับฟอสฟอรัสกับผลกระทบต่อร่างกาย

ระดับฟอสฟอรัสต่ำเกินไป

ผู้ที่ประสบภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ (Hypophosphatemia) จะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง โดยอาการแสดงขึ้นอยู่กับสาเหตุ ระยะเวลา และระดับความุรนแรงของภาวะขาดฟอสเฟต หากมีระดับฟอสฟอรัสไม่ต่ำมากทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง จะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำอย่างรุนแรง มักมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) และไม่รู้สึกตัว  

นอกจากนี้ โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือการรับประทานยาลดกรด อาจทำให้ระดับฟอสฟอรัสในร่างกายต่ำลงผิดปกติได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าวควรรับการรักษาควบคุมอาการให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจากภาวะขาดฟอสฟอรัสด้วยเช่นกัน

ระดับฟอสฟอรัสสูงเกินไป

โดยทั่วไป ผู้ที่ประสบภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง (Hyperphosphatemia) มักไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏ แต่บางครั้งอาจแสดงอาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia) เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ชักกระตุก รู้สึกชารอบปาก ปวดกระดูกและข้อต่อ รู้สึกคัน และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย นอกจากนี้ บางรายที่ป่วยเป็นโรคไตอาจมีภาวะของเสียคั่งในเลือด (Uremic Symptoms) ร่วมด้วย โดยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาในการนอน

ส่วนผู้ที่มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับฟอสฟอรัสทางหลอดเลือดดำ จะมีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการของภาวะเลือดมีแคลเซียมน้อย เช่น มือกระตุก กล้ามเนื้อรอบดวงตากระตุก ระบบประสาทตอบสนองไว นิ้วเหยียดเกร็ง และเกิดอาการชัก

อย่างไรก็ตาม ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยมักพบในผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต และผู้ที่มีกลไกการควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดบกพร่อง นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับฟอสฟอรัสปริมาณมากเกินไปในขณะที่ได้รับแคลเซียมในปริมาณน้อย ก็อาจทำให้เกิดภาวะฟอสฟอรัสสูงได้เช่นกัน

ปริมาณฟอสฟอรัสที่แนะนำต่อวัน

แม้ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากได้รับฟอสฟอรัสสูงหรือต่ำเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรคำนวณปริมาณฟอสฟอรัสให้เหมาะสมก่อนบริโภคอาหารหรืออาหารเสริม โดยคำนึงถึงปริมาณฟอสฟอรัสที่คนในแต่ละช่วงอายุควรได้รับ ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดอายุ 0-6 เดือน 100 มิลลิกรัม/วัน หรือ ปริมาณที่ได้รับจากน้ำนมมารดา
  • ทารกอายุ 6-11 เดือน 275 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กเล็กอายุ 1-3 ปี 460 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี 500 มิลลิกรัม/วัน
  • วัยรุ่นอายุ 9-18 ปี 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ใหญ่ 700 มิลลิกรัม/วัน

แหล่งอาหารของฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสมักอยู่ในอาหารจำพวกโปรตีน ได้แก่ ถั่ว ไข่แดง เนื้อสัตว์ ปลา เป็ด ไก่ ข้าวกล้อง บะหมี่ ขนมปังธัญพืช นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ช็อกโกแลต โยเกิร์ต เป็นต้น

ส่วนอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสน้อย ได้แก่ ผัก และผลไม้ แต่ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมตามปกติ เพราะแม้มีฟอสฟอรัสต่ำ แต่ผักและผลไม้ล้วนอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ฟอสฟอรัสในรูปแบบอาหารเสริม

โดยปกติแล้วร่างกายจะได้รับฟอสฟอรัสในปริมาณที่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร แต่ในบางรายที่ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานฟอสฟอรัสเพิ่มในรูปแบบอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นหรือต้องการรับประทานอาหารเสริมฟอสฟอรัส ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น มีระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยโรคแอดดิสัน (Addison's Disease) โรคปอด โรคตับ โรคไต และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับแข็ง หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มีอาการบวม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมฟอสฟอรัส