พาราควอต สารพิษอันตรายและการปฐมพยาบาล

พาราควอต (Paraquat) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของยากำจัดวัชพืช ในปัจจุบันมีหลายประเทศเช่นกันที่สั่งห้ามใช้สารชนิดนี้ในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากเป็นสารมีที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังมีรายงานว่าพาราควอตอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่การทำการเกษตรในประเทศไทยยังคงมีการใช้สารเคมีดังกล่าวเพื่อกำจัดวัชพืชอยู่ อีกทั้งผักผลไม้ที่นำมารับประทานก็อาจมีการตกค้างของสารเคมีชนิดนี้ จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพาราควอตเพื่อนำไปใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

พาราควอตเป็นสารเคมีอันตราย เดิมมีสีเข้มคล้ายกาแฟและมีกลิ่นฉุน ผู้ผลิตจึงมักมีใส่สีน้ำเงินเพื่อป้องกันการสับสน สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส สูดดม และรับประทาน รวมทั้งปนเปื้อนในอาหาร ด้วยพิษที่รุนแรงของพาราควอต ไม่เพียงแต่วัชพืชที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังส่งผลไปถึงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บริเวณที่มีการใช้สารเคมีดังกล่าว เมื่อคนสัมผัสหรือได้รับพิษจากพาราควอตอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ตั้งแต่อาการคลื่นไส้อาเจียนไปจนถึงอวัยวะล้มเหลว ดังนั้น การปฐมพยาบาลหลังจากได้รับพิษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

พาราควอต

พิษจากพาราควอต

ความรุนแรงจากอาการโดนพิษของพาราควอตอาจขึ้นอยู่กับปริมาณ รูปแบบที่ได้รับ รวมทั้งความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม พิษจากสารชนิดนี้เป็นอันตรายและออกฤทธิ์รวดเร็ว โดยอาการอาจแบ่งตามรูปแบบการได้รับ ดังนี้

  • การสัมผัส
    แม้ว่าพาราควอตเป็นสารที่ดูดซึมผ่านผิวหนังได้น้อย แต่เมื่อสัมผัสกับสารชนิดนี้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการ อย่างผิวหนังระคายเคือง เกิดบาดแผล เป็นผื่นอย่างรุนแรง และหากพาราควอตสัมผัสกับแผล อาจเกิดการดูดซึมเข้ากระแสเลือดและส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย
  • การสูดดม
    การได้รับพาราควอตผ่านทางการสูดดมอาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย และยังเป็นอันตรายต่อทารกได้อีกด้วย
  • การรับประทาน
    การได้รับสารพิษชนิดนี้ผ่านการรับประทานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยปกติแล้ว ยากำจัดวัชพืชมักประกอบด้วยพาราควอตที่มีความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลการรายงานพบว่า ความเข้มข้นในระดับนี้ หากได้รับยากำจัดวัชพืชปริมาณ 15 มิลลิลิตร ผู้ที่ได้รับสารพิษอาจยังมีโอกาสรอดชีวิต แต่ถ้าหากได้รับเกิน 50-60 มิลลิลิตร ผู้ที่ได้รับสารมักเสียชีวิตและอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง

    โดยอาการเป็นพิษอาจเริ่มต้นด้วยความรู้สึกปวดแสบและแสบร้อนภายในช่องปากและลำคอ หายใจลำบาก เลือดกำเดาไหล หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ท้องเสียและอาจมีเลือดปน อาเจียนหรืออาเจียนเป็นเลือด โดยอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะขาดน้ำ ภาวะไม่สมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย และภาวะความดันโลหิตต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการช็อกได้

    การได้รับพาราควอตในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจส่งผลให้เกิดภาวะอวัยวะ อย่างหัวใจ ปอด ตับ และไตทำงานล้มเหลว โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารพิษหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ หากได้รับสารนี้ในปริมาณมาก อาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นแผลในปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจได้รับบาดเจ็บ ไตวายเฉียบพลัน ตับทำงานล้มเหลว โคม่า ชัก และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต

นอกจากนี้ การได้รับพาราควอตต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้อวัยวะล้มเหลว เป็นแผลภายในปอด เกิดพังผืดภายในปอด (Pulmonary fibrosis) และอาจเป็นอันตรายต่อทารกหากผู้สัมผัสกำลังตั้งครรภ์

เมื่อสัมผัสกับพาราควอตควรทำอย่างไร ?

ภายหลังจากที่สัมผัสหรือได้รับพาราควอตในรูปแบบใดก็ตาม ควรปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้

  • เมื่อพาราควอตสัมผัสกับเสื้อผ้า ควรนำเสื้อผ้าที่เปื้อนสารพิษออกจากร่างกายด้วยวิธีการตัดเสื้อออกเป็นชิ้นเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สารพิษสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ จากนั้นเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงที่มิดชิดเพื่อนำไปกำจัด นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสื้อผ้าเหล่านั้นโดยตรง
  • เมื่อพาราควอตสัมผัสกับผิวหนัง ควรอาบน้ำให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันสารพิษซึมเข้าร่างกาย โดยถอดเสื้อผ้าออกด้วยวิธีด้านบน ใช้น้ำและสบู่ล้างร่างกายจนสะอาด
  • เมื่อพาราควอตสัมผัสกับดวงตา เบื้องต้นให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลา 10-15 นาที หากมีความผิดปกติควรไปพบแพทย์ และหากสวมคอนแทคเลนส์ควรถอดออกและทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ
  • เมื่อได้รับพาราควอตผ่านการรับประทาน อาจปฐมพยาบาลด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) ที่ใช้แก้ท้องอืด หรือ Fuller’s earth ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจลดการดูดซึมสารพิษได้
  • เสื้อผ้าหรือสิ่งของที่เปื้อนสารพิษควรกำจัดอย่างถูกวิธี โดยปรึกษาแพทย์

โดยหลังจากปฐมพยาบาลด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและหากอาการรุนแรงควรโทรเรียกรถพยาบาล

นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสี่ยงที่จะได้รับพาราควอตได้ ด้วยการเลือกซื้อผักผลไม้ที่ปลอดสาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่คาดว่าอาจปนเปื้อนสารพิษ และล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำอาหารหรือรับประทาน

สำหรับผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องใช้สารพิษ ควรศึกษาวิธีการป้องกันและการปฐมพยาบาลเมื่อได้รับสารพิษ อ่านฉลากของสารเคมีและปฏิบัติตามวิธีการใช้ สวมอุปกรณ์ป้องกันสารพิษให้มิดชิดทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือรับประทานผลผลิตที่อยู่ในบริเวณที่มีการใช้พาราควอต ทำความสะอาดร่างกายอย่างถูกวิธีและทันทีหลังเสร็จงาน และเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงยั่งยืน ควรพิจารณาเปลี่ยนจากการใช้สารพิษกำจัดวัชพืชมาเป็นการใช้วิธีที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และเป็นพิษน้อยลง