พยาธิปอดหนู อันตรายที่มาพร้อมอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus Cantonensis) เป็นตัวการก่อปัญหาสุขภาพในคนที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือผักสดที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดก่อน ซึ่งอาจปนเปื้อนตัวอ่อนของพยาธิมาด้วย พยาธิชนิดนี้อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลาง ในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้อวัยวะเสียหายถาวรหรือเสียชีวิตได้เลย

พยาธิปอดหนูหรืออีกชื่อคือพยาธิหอยโข่ง โดยตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ภายในปอดของหนู ส่วนตัวอ่อนของพยาธิจะถูกขับออกมาพร้อมอุจจาระของหนู และอาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำหรือดิน ทำให้ตัวอ่อนของพยาธิปอดหนูมีโอกาสเข้าสู่ตัวหอยทากหรือหอยน้ำจืดจนกลายเป็นสัตว์พาหะนำโรคได้ เช่น หอยโข่ง หอยขม และหอยเชอรี่  

พยาธิปอดหนู อันตรายที่มาพร้อมอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

เมื่อสัตว์น้ำจืดกินหอยที่มีตัวอ่อนพยาธิเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหรือปูน้ำจืด กบ และลูกอ๊อด คนที่นำสัตว์พาหะเหล่านี้ไปรับประทานต่อโดยไม่ผ่านการปรุงสุกก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิปอดหนูได้เช่นกัน นอกจากการรับประทานอาหารดิบแล้ว พยาธิปอดหนูยังอาจปนเปื้อนมาในน้ำที่ไม่สะอาด รวมถึงผักและผลไม้สดได้ด้วย 

อันตรายจากพยาธิปอดหนู

ปกติแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยในเวลาสั้น ๆ โดยอาการป่วยมักแสดงออกมาหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนพยาธิปอดหนูไปประมาณ 1–3 สัปดาห์ ตัวอย่างอาการที่พบได้มีดังนี้

  • มีอาการของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Eosinophilic Meningitis) เช่น มีไข้แบบเป็น ๆ หาย ๆ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็งเกร็ง ปวดศีรษะ 
  • กล้ามเนื้อเกร็ง รู้สึกผิดปกติเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง มีความรู้สึกไวต่อการกระตุ้น สูญเสียการทรงตัว ในกรณีรุนแรงอาจเป็นอัมพาตได้
  • พยาธิปอดหนูที่ไชเข้าตาอาจส่งผลต่อการมองเห็น ตามัว เจ็บตา ตาอักเสบ หรือตาบอด แต่มักพบได้น้อยราย 
  • พยาธิปอดหนูอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ตาบอดถาวร ระบบประสาททำงานผิดปกติ หรือเสียชีวิต แต่มักพบได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม พยาธิปอดหนูมักมีชีวิตภายในร่างกายคนได้ไม่นานนัก ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยมักหายได้เองเพียงรักษาด้วยยาแก้ปวดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้การรักษาเฉพาะ ทว่าผู้ที่มีปัญหาเยื่อหุ้มสมองอักเสบรุนแรงอาจต้องใช้สเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือการรักษาเฉพาะอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ 

วิธีป้องกันพยาธิปอดหนูในเบื้องต้น

การป้องกันพยาธิปอดหนูง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพนั้นเริ่มได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเอง โดยให้รับประทานอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเมนูหอย กุ้งหรือปูน้ำจืด หากเป็นผักผลไม้สดควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำไปประกอบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับตัวอ่อนของพยาธิปอดหนูที่อาจติดมาด้วย

นอกจากนี้ ให้สวมถุงมือหรือหมั่นล้างมือให้สะอาดหลังการเตรียมอาหาร ประกอบอาหาร ทำสวน และเมื่อสัมผัสตัวหนูหรือหอย รวมถึงหามาตรการลดจำนวนหนูที่อาศัยในบริเวณบ้าน เพื่อลดจำนวนพยาธิและเชื้อโรคอื่น ๆ 

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อพยาธิปอดหนู หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หลังรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบหรือมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อพยาธิปอดหนู ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป