ปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี

ปัสสาวะเล็ดเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลายคน ทั้งคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่เพิ่งผ่านการคลอดมา นอกจากจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญใจแล้ว อาการปัสสาวะเล็ดยังส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการที่คุณแม่รับมือได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ เพราะอาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับอาการปัสสาวะเล็ดที่มักเกิดขณะตั้งครรภ์ ทั้งสาเหตุ วิธีรับมือ และสัญญาณที่คุณแม่ควรไปพบแพทย์มาฝาก

ปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี

ปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร

ปัญหาปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • เกิดแรงกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะจากการที่ทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะที่อยู่บริเวณใต้ครรภ์อาจถูกแรงกดทับจนมีพื้นที่กักเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อยลง โดยเฉพาะเมื่อไอ จาม หรือหัวเราะ ยิ่งทำให้คุณแม่อาจมีปัสสาวะเล็ดได้ง่ายขึ้น
  • การเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ หูรูดท่อปัสสาวะ และเส้นเอ็นที่มีหน้าที่คอยควบคุมระบบปัสสาวะให้เป็นปกติเกิดการคลายตัวจนร่างกายควบคุมปัสสาวะได้ยากขึ้น
  • ไตทำงานหนักขึ้น เนื่องจากปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มสูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้กระบวนการทำงานของไตและกระบวนการผลิตน้ำปัสสาวะทำงานมากผิดปกติได้

นอกจากนี้ คุณแม่บางคนยังอาจเสี่ยงเกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นปัสสาวะเล็ด
  • มีภาวะน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักตัวเพิ่มมากผิดปกติขณะตั้งครรภ์
  • มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่มักส่งผลให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
  • มีประวัติการคลอดธรรมชาติหรือการคลอดผ่านทางช่องคลอด
  • มีประวัติผ่าตัดกระดูกเชิงกราน
  • ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคหลอดเลือดสมอง 
  • มีประวัติใช้ยาคลายกังวลหรือยาคลายเครียด

ส่วนใหญ่แล้ว อาการปัสสาวะเล็ดมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองหลังคลอดประมาณ 2–3 สัปดาห์ แต่คุณแม่บางรายอาจมีโอกาสเกิดปัสสาวะเล็ดไปอีกหลายเดือนหลังคลอด เช่น คุณแม่ที่มีทารกในครรภ์ตัวใหญ่ คุณแม่ที่เบ่งคลอดนาน คุณแม่ที่เป็นเบาหวาน หรือคุณแม่ที่คลอดโดยแพทย์ต้องใช้เครื่องมือช่วยในการทำคลอด

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่มีอาการปัสสาวะเล็ดอาจลองฝึกท่ากระชับช่องคลอด (Kegel Exercises) โดยการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานคล้ายกับการอั้นปัสสาวะหรือกลั้นการผายลมทางทวารหนัก ทำค้างไว้ 10 วินาทีแล้วผ่อนออก และทำซ้ำไปอีก 15 ครั้ง

ในขณะที่คุณแม่กำลังเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน พยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณขา สะโพก และหน้าท้อง สำหรับความถี่ในการฝึกท่ากระชับช่องคลอด คุณแม่ควรฝึกให้ได้ทุกวัน วันละอย่างน้อย 5 รอบ เพื่อช่วยให้ร่างกายควบคุมอาการปัสสาวะเล็ดได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ คุณแม่ที่ปัสสาวะเล็ดบ่อยอาจปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลม เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้อาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคือง จนทำให้กระบวนการควบคุมปัสสาวะของร่างกายทำงานผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในช่วงก่อนเข้านอนเพื่อป้องกันการปวดปัสสาวะในตอนกลางคืน
  • รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูก เนื่องจากอาการท้องผูกอาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์บางคนเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
  • ควบคุมน้ำหนักตัว เนื่องจากภาวะน้ำหนักตัวเกินถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่มักส่งผลให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หลาย ๆ คนปัสสาวะเล็ดได้
  • จดบันทึกช่วงเวลาที่มักมีอาการปัสสาวะเล็ด เพื่อช่วยให้คุณแม่ปรับเวลาการเข้าห้องน้ำไปเป็นช่วงก่อนที่มักจะเกิดอาการได้

ทั้งนี้ คุณแม่ที่คลอดลูกไปแล้วนานเกิน 6 สัปดาห์แต่ยังพบการเกิดปัสสาวะเล็ดอยู่ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้