ปวดท้องไส้ติ่ง เรียนรู้วิธีสังเกตอาการและสิ่งที่ต้องทำเมื่อสงสัยว่าไส้ติ่งอักเสบ

ปวดท้องไส้ติ่ง หรือไส้ติ่งอักเสบ เป็นอาการที่สร้างความสับสนและทำใครหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยจึงอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เสี่ยงต่อการเกิดไส้ติ่งแตกและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในบทความนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าปวดท้องไส้ติ่งนั้นเป็นแบบไหน แล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยว่าปวดท้องไส้ติ่ง

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปวดท้องไส้ติ่งอาจเป็นผลจากการอุดตันในเยื่อบุไส้ติ่ง จนเกิดการติดเชื้อและการอักเสบตามมา โดยไส้ติ่งเป็นอวัยวะขนาดเล็กที่อยู่ติดกับลำไส้ใหญ่บริเวณท้องด้านล่างขวา ยาวประมาณ 5–10 เซนติเมตร ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีหน้าที่อะไรในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากขาดไปก็มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย 

ปวดท้องไส้ติ่ง เรียนรู้วิธีสังเกตอาการและสิ่งที่ต้องทำเมื่อสงสัยว่าไส้ติ่งอักเสบ

สังเกตสัญญานที่บอกว่าคุณอาจกำลังปวดท้องไส้ติ่ง

 โดยทั่วไป ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมักปวดท้องไส้ติ่งอย่างเฉียบพลัน โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • เริ่มปวดท้องด้านขวาล่าง หรือปวดบริเวณรอบสะดือแล้วย้ายไปที่ท้องด้านขวาล่าง โดยอาจปวดเป็นพัก ๆ และมักแย่ลงเรื่อย ๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมง
  • เมื่อกดท้องด้านขวาบริเวณที่มีอาการปวดแล้วจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น
  • ปวดท้องรุนแรงมากขึ้นขณะไอ จาม หรือขยับร่างกาย
  • เบื่ออาหาร
  • อาหารไม่ย่อย 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ท้องบวม 
  • มีไข้ต่ำ ๆ 
  • ท้องเสีย 
  • ท้องผูก 
  • ท้องอืด

ในกรณีสตรีมีครรภ์ที่ปวดท้องไส้ติ่งอาจรู้สึกปวดตรงบริเวณท้องด้านขวาบนแทนที่จะเป็นท้องด้านขวาล่าง เนื่องจากตำแหน่งของไส้ติ่งถูกดันให้อยู่สูงขึ้น

หากผู้ป่วยเผชิญกับอาการที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะหากปวดท้องไส้ติ่งดีขึ้นเพียงไม่นานก็แย่ลงอีกครั้งหรือปวดลามไปทั่วท้อง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของไส้ติ่งแตก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) หรืออาจเสียชีวิตได้ 

สิ่งที่ควรทำเมื่อสงสัยว่าปวดท้องไส้ติ่ง

เนื่องจากปวดท้องไส้ติ่งต่างจากการปวดท้องทั่วไป การปล่อยทิ้งไว้หรือรับประทานเพียงยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลไม่อาจช่วยให้หายดีได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน ผู้ป่วยจึงควรไปรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดไส้ติ่งที่อักเสบออก (Appendectomy) เพื่อป้องกันไส้ติ่งแตก โดยจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนเริ่มการผ่าตัด เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียด้วย

ในกรณีที่ไส้ติ่งแตกและมีฝีหนองอยู่ภายใน แพทย์อาจใช้เข็มเจาะหรือผ่าตัดระบายหนองออกก่อน แล้วจึงผ่าตัดนำไส้ติ่งออกในอีกหลายสัปดาห์ให้หลัง 

หลังผ่าตัดไส้ติ่งออกแล้วผู้ป่วยอาจใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายประมาณ 2–3 สัปดาห์ โดยในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังหรือใช้กำลังมาก เพราะอาจกระทบต่อแผลผ่าตัดได้ 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติหลังการผ่าตัด เช่น อาเจียนไม่หยุด อาเจียนเป็นเลือดหรือปัสสาวะเป็นเลือด ปวดท้องมากขึ้น มีไข้ แผลผ่าตัดเป็นหนอง หรือเวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว