ประโยชน์ของโพรไบโอติกต่อสุขภาพลำไส้และภูมิคุ้มกันร่างกาย

ปัญหาสุขภาพยอดฮิตในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง อย่าง ไข้หวัด ท้องเสีย ปัญหาลำไส้ หรือโรคภูมิแพ้ เป็นอุปสรรคขนานใหญ่ของใครหลายคน ซึ่งมักไม่รู้ว่า โพรไบโอติก (Probiotics) อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะกับคนที่เผชิญมลภาวะเป็นประจำ มีความเครียดสะสม พักผ่อนน้อย หรือมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ หากอยากรู้ว่า โพรไบโอติกช่วยได้อย่างไร มีคำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

โดยธรรมชาตินั้น โพรไบโอติกคือ จุลินทรีย์ชนิดดีมีประโยชน์ที่สามารถพบได้ในลำไส้ของมนุษย์ อาหารบางประเภท อาทิ โยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์จากนม หรือของหมักดอง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม การรับประทานโพรไบโอติกจะช่วยทดแทนแบคทีเรียชนิดดีที่สูญเสียไป และปรับปริมาณแบคทีเรียชนิดดีและชนิดไม่ดีให้สมดุลกัน เพื่อรักษากระบวนการทำงานของร่างกายให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ โดยชนิดของโพรไบโอติกที่นิยมนำมาใช้และขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพดี ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)  

ประโยชน์ของโพรไบโอติก

รู้ลึกเรื่องประโยชน์ของโพรไบโอติก

ลำไส้ใหญ่ของคนเราเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียกว่าร้อยชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ อย่างการสังเคราะห์วิตามิน เช่น วิตามินเคและวิตามินบีบางชนิด และการย่อยสลายเส้นใยอาหารไปเป็นกรดไขมันสายสั้น ซึ่งเป็นกรดไขมันดีที่ช่วยในกระบวนการเผาผลาญและกระตุ้นการทำงานของผนังลำไส้เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย 

หากแบคทีเรียชนิดดีและชนิดไม่ดีในลำไส้มีจำนวนไม่สมดุลกัน ทั้งที่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ อาทิ ปัญหาการย่อยอาหาร โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ หรือโรคซึมเศร้า

โดยมีงานวิจัยบางส่วนบอกกับเราว่า การรับประทานโพรไบโอติก อย่างแลคโตบาซิลลัสหรือบิฟิโดแบคทีเรียม อาจเป็นทางเลือกที่ช่วยทดแทนแบคทีเรียที่สูญเสียไป เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแบคทีเรียชนิดดีให้มากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพดังกล่าว ซึ่งรวมถึงอาการท้องเสียและไข้หวัดที่จะพูดถึงต่อไปนี้ด้วย 

ลดปัญหาท้องเสีย

อาการท้องเสียถือเป็นปัญหาที่กวนใจคนวัยทำงานเป็นอย่างมาก โดยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในลำไส้จากอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน การใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อเป็นเวลานาน หรือโรคระบบทางเดินอาหารอย่างโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) อีกทั้งมักเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งหน้าท้อง ซึ่งไพรไบโอติกอาจช่วยลดอาการเหล่านี้ได้  

จากการทดลองจำนวนหนึ่งเผยว่า โพรไบโอติกมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการท้องเสียเร็วขึ้น และโพรไบโอติกชนิดแลคโตบาซิลลัสอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ทว่าจำเป็นต้องมีการค้นคว้าให้มากขึ้น ผู้บริโภคจึงควรใช้โพรไบโอติกเป็นทางเลือกเสริมเท่านั้น

เสริมสร้างภูมิต้านทานไข้หวัด 

เนื่องจากภูมิต้านทานร่างกายนั้นเปรียบเสมือนเกราะป้องกันสุขภาพ การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงจึงอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคยอดฮิตในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่างไข้หวัด ซึ่งเป็นโรคการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็สร้างความรำคาญใจและความไม่สบายตัวได้ไม่น้อย จนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน 

มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติของโพรไบโอติกในด้านนี้ และอาจใช้เป็นแนวทางในการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายได้ในอนาคต โดยจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้อาสาสมัครจำนวน 68 คน ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมโพรไบโอติกชนิดแลคโตบาซิลลัสเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลพบว่า ไพรไบโอติกชนิดดังกล่าวช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิกัน และลดโอกาสของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรืออาการที่คล้ายไข้หวัด

ในปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยประโยชน์ของโพรไบโอติกอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับสมดุลลำไส้ บรรเทาอาการท้องเสีย หรือเสริมภูมิต้านทานต่อไข้หวัด โดยผู้บริโภคสามารถรับประทานโพรไบโอติกเป็นทางเลือกเสริมในการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้นได้ สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพที่สนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

เลือกซื้ออย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์ของโพรไบโอติก

เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์ของโพรไบโอติกไปพร้อมกับความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อโพรไบโอติกหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากโพรไบโอติกโดยคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ 

  • พรีไบโอติก (Prebiotics)

การรับประทานโพรไบโอติกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงต่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ แต่ควรรับประทานพรีไบโอติก อย่างอินนูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นอาหารของโพรไบโอติกร่วมด้วย เพราะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและเสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ โดยพรีไบโอติก โดยพรีไบโอติกนั้นจัดเป็นใยอาหารประเภทหนึ่งที่พบได้ในผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลี หัวหอม กล้วย กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น 

  • ปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติกปริมาณที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่าและเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยสามารสังเกตได้จากค่า CFU (Colony Forming Units)  ซึ่งเป็นหน่วยที่ได้จากการนับจำนวนจุลินทรีย์มีชีวิตนั่นเอง 

โดยตามประกาศขอสำนักงานอย. กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้องมีปริมาณโพรไบโอติกตลอดอายุการเก็บรักษาไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัว (CFU) ต่ออาหาร 1 กรัม ซึ่งอาหารเสริมโดยทั่วไปก็มักมีปริมาณโพรไบโอติกสูงกว่าเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด 

  • สายพันธุ์ของโพรไบโอติก

เนื่องจากแบคทีเรียแต่ละชนิดและสายพันธุ์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรเลือกโพรไบโอติกที่เหมาะกับอาการหรือตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองมากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์ของโพรไบโอติกอย่างเต็มที่ โดยบางยี่ห้ออาจมีโพรไบโอติกอยู่หลายชนิดเพื่อประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น 

  • รูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกในท้องตลาดนั้นมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบเม็ด หรือบางยี่ห้อก็พัฒนาให้อยู่ในรูปแบบผงเพื่อช่วยให้รับประทานง่าย โดยผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือปราศจากน้ำตาลเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างโรคเบาหวาน ตรวจสอบส่วนผสมบนฉลากที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และหาผลิตภัณฑ์ที่เก็บรักษาไว้ได้นาน 

ทั้งนี้ ควรศึกษาวิธีรับประทานที่ถูกต้องบนฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนเสมอ เพราะผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกแต่ละแบบมีวิธีรับประทานแตกต่างกันไป โดยบางยี่ห้อสามารถรับประทานผงโพรไบโอติกได้เลยเพียว ๆ นำไปผสมกับน้ำสะอาดก่อนดื่ม หรือโรยบนอาหารก่อนรับประทาน ยกเว้นน้ำร้อนหรืออาหารร้อนที่ไม่ควรรับประทานร่วมกัน เพราะจุลินทรีย์มีชีวิตจะถูกทำลายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิสูง

อย่างไรก็ตาม แม้อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกมักปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง อย่างมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องผูก และกระหายน้ำ ยิ่งไปว่านั้นยังมีข้อควรระวังที่ผู้มีสุขภาพดีและมีปัญหาสุขภาพบางประการควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น 

  • ผู้ที่ป่วยหนักหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในเลือด และการติดเชื้อจากโพรไบโอติกที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง
  • ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรงไม่ควรรับประทานโพรไบโอติก เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • อาหารเสริมบางยี่ห้ออาจไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและอาจปนเปื้อนสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือความผิดปกติตามมา ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ มีเลขอย. ที่ชัดเจน และสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ง่าย
  • อ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณที่ควรรับประทาน วันผลิต วันหมดอายุ และการเก็บรักษา หากมีความกังวลหรือข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวและสตรีมีครรภ์   

หนึ่งสิ่งที่ผู้บริโภคควรเข้าใจตรงกันคือ โพรไบโอติกในปัจจุบันไม่ถือเป็นยารักษาโรค จึงไม่ควรใช้เป็นการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพโดยตรง แต่เป็นการนำประโยชน์ของโพรไบโอติกมาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะปลอดภัยและเหมาะสมมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากรับประทานโพรไบโอติกแล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที