ประโยชน์ของกะหล่ำปลี ผักยอดนิยมที่อุดมด้วยสารอาหารหลากหลาย

กะหล่ำปลีเป็นผักที่มักพบอยู่ในอาหารหลากหลายชนิด แต่หลายคนอาจไม่ทราบถึงประโยชน์ของกะหล่ำปลี ซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเค ใยอาหาร และสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงยังเป็นผักที่ให้พลังงานต่ำ เหมาะกับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนักเป็นอย่างดี

นอกจากกะหล่ำปลีสีเขียวที่นิยมนำมาทำอาหารแล้ว ยังมีกะหล่ำปลีสีอื่น ๆ อีก ทั้งสีแดง สีม่วง หรือสีขาว โดยบางสีก็จะมีสารอาหารเฉพาะตัวอีกด้วย กะหล่ำปลีเป็นผักที่รับประทานได้หลากหลายรูปแบบ สามารถนำไปปรุงสุกร่วมกับอาหารชนิดอื่น รับประทานแบบดิบร่วมกับเมนูสลัด หรือนำไปหมักดองเป็นเมนูยอดนิยม อย่างกิมจิ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารที่หลากหลายให้กับร่างกาย

ประโยชน์ของกะหล่ำปลี ผักยอดนิยมที่อุดมด้วยสารอาหารหลากหลาย

ประโยชน์ของกะหล่ำปลี มีดีกว่าที่คิด

ด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย ทำให้การรับประทานกะหล่ำปลีอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น

1. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด

กะหล่ำปลีเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินซีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ชนิดหนึ่ง โดยสารชนิดนี้จะช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายถูกทำร้ายจากอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน หรือความดันสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ วิตามินซียังมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่น ๆ อีกเช่นกัน โดยช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารประเภทผักผลไม้ได้ดีขึ้น เสริมสร้างกระบวนการผลิตคอลลาเจนของร่างกายเพื่อช่วยให้บาดแผลสมานตัวเร็ว และเสริมความแข็งแรงให้กับภูมิคุ้มกันของร่างกาย 

2. ดีต่อระบบขับถ่าย

การรับประทานกะหล่ำปลีอาจช่วยให้ระบบขับถ่ายของร่างกายดีขึ้น เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นผักที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหาร โดยเฉพาะไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำไม่ได้ (Insoluble Fiber) ที่ช่วยเพิ่มปริมาณเนื้ออุจจาระ และช่วยให้ขับถ่ายบ่อยขึ้น โดยกะหล่ำปลีปริมาณหนึ่งถ้วยตวงหรือประมาณ 89 กรัม จะให้ไฟเบอร์ราว 2 กรัม

3. ช่วยควบคุมการอักเสบของร่างกาย

แม้ว่าการอักเสบเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และช่วยให้การฟื้นตัวของร่างกายเร็วขึ้น แต่การอักเสบของร่างกายที่เรื้อรังอาจเป็นสัญญาณหรือเกี่ยวข้องกับโรคบางโรค 

จากการศึกษาพบว่า กะหล่ำปลีและพืชในตระกูลกะหล่ำอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัว อย่างสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) สารเคมเฟอรอล (Kaempferol) และสารอื่น ๆ ที่อาจช่วยลดหรือควบคุมการอักเสบเรื้อรังของร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

4. ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

การแข็งตัวของเลือดเป็นกระบวนการที่ป้องกันภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ โดยในกะหล่ำปลีจะอุดมไปด้วยวิตามินเค 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีหน้าที่หลักในการช่วยให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดทำงานได้ดีขึ้น

5. ดีต่อหัวใจ

คอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในเลือด เป็นส่วนประกอบในน้ำดี ฮอร์โมนบางชนิด และผนังเซลล์ของร่างกาย แต่ระดับคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low–Density Lipoproteins: LDL) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น 

การรับประทานกะหล่ำปลีจึงเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารบางชนิดที่มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกาย เช่น

  • ไฟเบอร์ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีงานศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ความดันโลหิต และการอักเสบในร่างกายได้
  • สารไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) เป็นสารที่พบได้ในพืช มีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีของร่างกาย โดยมีงานศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารที่มีสารไฟโตสเตอรอลนั้นมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีของร่างกาย
  • สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ในกะหล่ำปลีสีแดงพบว่าช่วยลดการอักเสบ รวมทั้งยังมีข้อมูลพบว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้   
  • โพแทสเซียม ช่วยขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะและคลายหลอดเลือด เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย

แม้ประโยชน์ของกะหล่ำปลีจะดีต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ก่อนรับประทานกะหล่ำปลี ควรเลือกเฉพาะผักที่สด สะอาด และควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทาน เพื่อชำระล้างดิน สิ่งสกปรก หรือสารเคมีที่อาจตกค้างอยู่ออก