ท้องเดือนแรกกับการเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่ควรรู้

การท้องเดือนแรกสำหรับคุณแม่มือใหม่อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและกังวล แม้จะเป็นเดือนแรก แต่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็แทบทนรอวันได้เห็นหน้าลูกน้อยไม่ไหว ร่างกายและทารกในท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงเดือนแรก แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เองอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่างที่อาจทำให้กังวลได้

แม้ว่าบางคนอาจเคยตั้งครรภ์มาแล้ว แต่การตั้งครรภ์ลูกคนที่สองก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัว เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันได้ บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการและวิธีการรับมือในระหว่างท้องเดือนแรกมาให้คุณแม่ได้ศึกษากัน

ท้องเดือนแรกกับการเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่ควรรู้

ท้องเดือนแรก ลูกน้อยจะมีหน้าตาอย่างไรนะ?

การตั้งครรภ์เริ่มต้นการจากที่ไข่และอสุจิได้ปฏิสนธิและฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก ซึ่งไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วก็จะค่อย ๆ เติบโตจนมีลักษณะคล้ายถุงที่มีของเหลวอยู่ภายใน หรือที่เรียกว่าถุงน้ำคร่ำ (Amniotic Sac) โดยของเหลวในถุงน้ำคร่ำจะช่วยป้องกันตัวอ่อนของทารก จากนั้นสายรกจะเริ่มพัฒนาเพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารจากแม่ เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 4 หรือช่วงท้ายการท้องเดือนแรก ทารกจะพัฒนาใบหน้าดวงตา และหัวใจ โดยในช่วงเวลานี้ทารกจะมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวเท่านั้น

ท้องเดือนแรก อาการเป็นแบบไหน?

ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับให้ร่างกายของคุณแม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ทารก จึงอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากฮอร์โมน เช่น

  • เลือดออกบริเวณอวัยวะเพศแบบกะปริบกะปรอยหรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • ปวดท้อง ท้องอืด
  • ปวดหัว
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ประจำเดือนไม่มา
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  • แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บเต้านม หรือหัวนมมีสีเข้มขึ้น

หากพบอาการเหล่านี้แต่ยังไม่แน่ใจว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ หากต้องการใช้ที่ตรวจครรภ์ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ เพราะที่ตรวจครรภ์อาจให้ผลคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์ยังไม่ถึง 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจพบอาการใดอาการหนึ่ง หลายอาการรวมกัน หรืออาจไม่มีอาการเลยก็ได้ หากมีอาการรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวัน หรือเกิดความกังวล คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์

วิธีดูแลตนเองและลูกน้อยเมื่อเริ่มท้องเดือนแรก

การพัฒนาของทารกในครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน จำเป็นต้องได้รับสารอาหารและการดูแลอย่างดี เพื่อช่วยให้ทารกเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ช่วงแรก การดูแลตนเองที่ดีของแม่ยังอาจบรรเทาอาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์ได้ด้วย ซึ่งวิธีการดูแลตนเองและทารกในช่วงท้องเดือนแรกอาจทำได้ ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ข้อนี้คุณแม่ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว แต่เพื่อพัฒนาการของทารกในช่วงเดือนแรกที่ดี อาจต้องเพิ่มสารอาหารสำหรับคนท้อง อย่างวิตามินบี 6 และวิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) ลงไปในมื้ออาหารให้มากขึ้น เพราะวิตามินสองชนิดนี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยวิตามินบี 6 หาได้จากเนื้อสัตว์ ไข่ เนื้อปลา ธัญพืช ข้าวกล้อง นม และผักผลไม้หลากหลายชนิด ส่วนกรดโฟลิกพบได้ในเครื่องในสัตว์ ถั่วลูกไก่ และผักใบเขียวหลายชนิด เช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี ปวยเล้ง และกะหล่ำดาว

ควรเพิ่มอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ อย่างผักและผลไม้ลงไปในมื้ออาหารมากขึ้น เพื่อบรรเทาอาการท้องอืดจากการเปลี่ยนของฮอร์โมนในร่างกาย นอกจากนี้อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกับสารอาหารอื่น ๆ ที่ควรได้รับในช่วงของการท้องเดือนแรก ซึ่งแพทย์อาจแนะนำรายชื่ออาหารหรือสั่งจ่ายวิตามินบำรุงครรภ์ให้คุณแม่อีกด้วย

2. ออกกำลังกาย

หลายคนอาจคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะกับคนท้อง โดยเฉพาะช่วงท้องเดือนแรก เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือทำให้ทารกผิดปกติ แต่ในความเป็นจริง การออกกำลังกายรูปแบบที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์นั้นส่งผลดีแก่คุณแม่และทารก จากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอาจช่วยลดอัตราการผ่าตลอด เพิ่มน้ำหนักทารก และบรรเทาอาการเบาหวานในคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายที่เป็นผลมาจากการตั้งครรภ์อีกด้วย

3. หยุดพฤติกรรมเสี่ยง

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่เหมาะสมแล้ว คุณแม่ควรงดหรือปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างที่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ เช่นการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้คุณแม่ควรนอนหลับให้เพียงพอเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนและบรรเทาอาการอ่อนเพลีย

4. ไปพบแพทย์ตามนัด

แพทย์ผู้ดูแลจะนัดตรวจครรภ์เป็นประจำ ซึ่งการตรวจอาจบอกได้ถึงสุขภาพของคุณแม่และทารก รวมถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงงแพทย์ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้การมาพบแพทย์ยังช่วยให้คุณแม่เรียนรู้วิธีการดูแลตนเองลูกน้อยมากขึ้น

ยังมีอีกหลายวิธีที่คุณแม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อดูแลตนเองและลูกน้อยในช่วงท้องเดือนแรก เพื่อช่วยเสริมสุขภาพและบรรเทาอาการจากการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ หากปวดเกร็งที่ท้อง เลือดออกมากผิดปกติ หรือมีสัญญาณอื่น ๆ ที่ดูเป็นอันตราย ควรไปรีบพบแพทย์ทันที