ถ้วยอนามัย ทางเลือกใหม่เพื่อสุขอนามัยของคุณผู้หญิง

ถ้วยอนามัย เป็นอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัยของผู้หญิงคล้ายกับผ้าอนามัย บางคนก็อาจเรียกว่าผ้าอนามัยแบบถ้วย เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้นั้นเหมือนกับผ้าอนามัยแบบปกติ คือ ช่วยรองรับประจำเดือน เพียงแต่มีลักษณะและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน โดยลักษณะทั่วไปของถ้วยอนามัยจะเป็นทรงกรวยคล้ายถ้วย บริเวณก้นถ้วยด้านนอกจะมีก้านเล็ก ๆ ส่วนใหญ่มักทำมาจากยางหรือซิลิโคน จึงมีความยืดหยุ่นและพับได้ อีกทั้งยังสามารถล้างทำความสะอาดและนำมาใช้ได้หลายครั้ง

แม้ว่าการใช้ถ้วยอนามัยในประเทศไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ในหลายประเทศนิยมใช้ถ้วยอนามัยกันมานาน หากสาว ๆ คนไหนที่ประสบปัญหาจากการใช้ผ้าอนามัยแบบเก่าอย่างผื่นคันหรือต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยครั้ง ถ้วยอนามัยก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง

ถ้วยอนามัย

ถ้าหากอยากทราบว่าผ้าอนามัยแบบถ้วยแตกต่างจากแบบปกติอย่างไร ? ข้อดีและข้อเสียเหมือนกับผ้าอนามัยหรือไม่ ? มีวิธีใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ? สามารถติดตามได้จากบทความนี้

ข้อดีของการใช้ถ้วยอนามัย

ถ้วยอนามัยอาจตอบสนองความต้องการทางด้านสุขอนามัยของผู้หญิงในแบบที่ผ้าอนามัยปกติไม่สามารถทำได้ โดยคุณสมบัติของถ้วยอนามัยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้หญิง มีดังนี้

1. นำกลับมาใช้ซ้ำได้

ถ้วยอนามัยออกแบบมาให้สามารถนำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เนื่องจากตัววัสดุที่ใช้ผลิตนั้นเป็นยางหรือซิลิโคน ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง มีความแข็งแรงและทนทาน จึงสามารถใช้งานได้หลายปี

2. ลดขยะ ลดค่าใช้จ่าย

เนื่องจากวัสดุในการผลิตและอายุการใช้งานที่ยาวนานของถ้วยอนามัย จึงอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย และยังช่วยลดปริมาณขยะลงได้อีกด้วย

3. ซึมซับได้ดี ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย

โดยปกติผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแบบสอดนั้นควรเปลี่ยนทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้วยอนามัยอาจรองรับเลือดประจำเดือนได้นานสูงสุดถึง 12 ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของประจำเดือนว่ามามากหรือน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ควรเปลี่ยนถ้วยอนามัยอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เพื่อสุขอนามัยที่ดี

4. ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์

เมื่อเลือดประจำเดือนสัมผัสกับอากาศมักส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมา ทำให้หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจ แต่การใช้ถ้วยอนามัยจะช่วยให้ประจำเดือนสัมผัสกับอากาศได้น้อยลง จึงอาจช่วยลดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ได้

5. มีความปลอดภัย

การใช้ถ้วยอนามัยนั้นค่อนข้างปลอดภัยหากใช้อย่างถูกต้องและทำความสะอาดอย่างถูกวิธี ซึ่งการใช้ถ้วยอนามัยอาจลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อที่พบได้ในผ้าอนามัยแบบสอด อย่างกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (TSS) และการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดผื่นเหมือนการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นอีกด้วย

6. สะดวกสบายขึ้น

มีรายงานจากผู้ใช้ว่าการใส่ถ้วยอนามัยอย่างถูกวิธี จะให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่อะไรไว้ภายในช่องคลอด ซึ่งอาจลดความอึดอัดหรือช่วยให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ถ้วยอนามัยบางแบบอาจไม่จำเป็นต้องถอดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ถ้วยอนามัย

ด้วยลักษณะและวิธีการใช้ที่ค่อนข้างแตกต่างจากผ้าอนามัยปกติ การใช้ถ้วยอนามัยก็มีข้อควรระวัง ดังนี้

  • การเลือกขนาดที่เหมาะสม

    เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ถ้วยอนามัย การเลือกขนาดที่พอดีกับสรีระของร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยในช่วงแรกหลายคนอาจซื้อมาผิดขนาด หรือบางรายอาจไม่ทราบถึงวิธีการเลือกขนาดของถ้วยอนามัยที่เหมาะสมกับร่างกาย ดังนั้น ผู้ใช้อาจขอคำแนะนำเบื้องต้นจากเภสัชกรก่อนการเลือกซื้อ

  • การทำความสะอาดในที่สาธารณะ

    ถ้วยอนามัยจำเป็นต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค แต่การล้างทำความสะอาดในห้องน้ำสาธารณะ อย่างห้องน้ำที่ทำงานหรือห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความสกปรก โดยเฉพาะหากต้องล้างอุปกรณ์นี้บริเวณอ่างล้างมือ 

  • การระคายเคือง

    แม้ว่าการใช้ถ้วยอนามัยที่สะอาดจะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ แต่สำหรับผู้ที่แพ้ยางหรือแพ้ซิลิโคนนั้นนั้นอาจเสี่ยงต่อการเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังภายในช่องคลอด รวมทั้งหากทำความสะอาดได้ไม่ดีพอก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มได้

  • การใช้ร่วมกับห่วงอนามัย

    ถ้วยอนามัยส่วนใหญ่มักไม่สามารถใส่ร่วมกับห่วงอนามัยที่ใช้คุมกำเนิดได้ แต่ก็อาจมีถ้วยอนามัยบางประเภทที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ก่อนการเลือกใช้จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์

  • การดูแลรักษา

    ถ้วยอนามัยถูกออกแบบมาสำหรับการใช้ระยะยาว อีกทั้งต้องสวมใส่ไว้ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ที่สวมใส่จึงจำเป็นรักษาความสะอาด กำจัดเชื้อโรค และเก็บรักษาถ้วยอนามัยอย่างเหมาะสม ซึ่งในบางครั้งอาจสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้ได้

วิธีการใช้ถ้วยอนามัย

การใช้ถ้วยอนามัยแบ่งได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

ก่อนการใช้

สำหรับการใช้ครั้งแรก ให้นำถ้วยอนามัยไปต้มในน้ำร้อนประมาณ 5-10 นาที และพักให้อุณหภูมิลดลง จากนั้นนำไปล้างอีกครั้งด้วยสบู่อ่อนและน้ำเปล่า โดยให้เลือกใช้สบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะอาจทำให้ยางหรือซิลิโคนเสื่อมสภาพ และเกิดปัญหาในการใช้งานได้ ขั้นสุดท้ายหลังจากล้างด้วยสบู่ควรใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง

การใส่ถ้วยอนามัย

ทุกครั้งก่อนการใช้ถ้วยอนามัย ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ฆ่าเชื้อโรค เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สามารถใช้น้ำหรือสารหล่อลื่นชนิดน้ำทาบริเวณขอบถ้วย เพื่อช่วยให้ใส่ได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนการใส่ถ้วยอนามัยเริ่มต้นด้วยการพับถ้วยให้แบนและพับขอบถ้วยทั้งสองข้างเข้าหากัน จากนั้นใช้นิ้วจับถ้วยด้วยมือข้างเดียว และค่อย ๆ สอดเข้าไปยังช่องคลอดคล้ายกับการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เมื่อดันถ้วยอนามัยเข้าไป ส่วนที่พับจะกางออกเป็นถ้วยและเกาะอยู่ภายในช่องคลอด ผู้ใช้อาจได้ยินเสียง ป็อป เมื่อถ้วยอนามัยกางออก หากถ้วยอนามัยไม่กางออกให้จับบริเวณก้านด้านล่างของถ้วยและหมุนอีกครั้ง ซึ่งการหมุนดังกล่าวยังอาจช่วยให้การสวมใส่สบายขึ้น ซึ่งการใส่อย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสบายตัวเหมือนไม่ได้ใช้ถ้วยอนามัยอยู่ อย่างไรก็ตาม หากพบปัญหาในการใช้ถ้วยอนามัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

การถอดออก

ขั้นตอนในการถอดเริ่มต้นด้วยการล้างมือให้สะอาด จากนั้นใช้ปลายนิ้วค่อย ๆ จับประคองตัวถ้วยอนามัยและดึงออกมา โดยให้หลีกเลี่ยงการดึงบริเวณก้านถ้วยโดยตรง เพราะอาจทำให้ประจำเดือนหกออกมา จากนั้นเทประจำเดือนลงในโถชักโครก และล้างทำความสะอาดถ้วยอนามัยด้วยน้ำเปล่าก่อนใส่กลับเข้าไปอีกครั้ง สำหรับระยะเวลาในการเปลี่ยนถ้วยอนามัยนั้นไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค

วิธีดูแลรักษาถ้วยอนามัย

เมื่อหมดประจำเดือน ควรทำความสะอาดถ้วยอนามัยด้วยสบู่และน้ำเปล่า และต้มในน้ำร้อนประมาณ 5-10 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง หรือใช้เครื่องสเตอริไรส์ที่ใช้ฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ จากนั้นเก็บใส่ถุงผ้าที่ไม่อับชื้นและระบายอากาศได้

แม้ว่าถ้วยอนามัยจะมีวิธีใช้และการดูแลรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะในช่วงแรกของการใช้ แต่ในทางกลับกันก็ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยหากดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังประหยัดและสะดวกในการใช้งาน อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยใด ๆ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผื่น หรือการระคายเคือง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลง แต่หากพบอาการผิดปกติภายในช่องคลอด อย่างรู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ แสบขณะปัสสาวะ ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น หรือมีไข้ช่วงหลังจากการเปลี่ยนชนิดของผ้าอนามัย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ