ถามแพทย์

  • อายุ 18 ปี รู้สึกเหมือนมีเพื่อน หรือคนบุคลิกต่างๆกันอยู่ในจินตนาการ ได้ยินเสียงพูดคุยกันอยู่ในหัว ควรทำอย่างไร

  •  we324
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะคือมีช่วงนึงที่เราเศร้าเสียใจอย่างหนักและร้องไห้บ่อยมากเป็นมาประมาณ4ปี มีอาการดิ่งบ่อยๆร้องจนมันเหนื่อยที่จะร้องเรามองไปที่กระจก มองตัวเองร้องไห้สายตามันเฉยชามากเลยแล้วก็รู้สึกเหมือนมีอีกคนในตัวเองมาดูถูกตัวเรามาโทษว่าเป็นเพราะเราอ่อนแอก็เลยเป็นแบบนี้ เมื่อเดือนก่อนเราร้องไห้เพราะจู่ๆก็เหงามากๆทั้งที่ไม่เคยเหงามาก่อน ตื่นมาพอรู้ว่าอยู่คนเดียวอีกครั้งก็ร้อง จากวันนั้นจนตอนนี้มีทั้งหมด5คนในหัวตัวเองแล้วค่ะ ทุกคนมีชื่อและรูปลักษณ์ นิสัยท่าทางหมดเลย ทุกคนชอบมีตัวตนตอนที่เรากำลังรู้สึกนั้นๆอยู่ อย่างคนนึงเขาชอบร้องไห้ อีกคนชอบด่า อีกคนชอบเหยียด แล้วก็มีคนนึงเป็นผู้ชายค่ะอายุวัยหนุ่ม30-35 เราไม่เคยคุยกับเขาค่ะ แต่ทุกคนบอกกับเราว่าเขาจะออกมาปกป้องเราถ้าเราโดนคุกคามหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาบอกว่าเขาสามารถฆ่าคนได้ถ้ามีคนมาทำร้ายเรา เวลาคุยกันในหัวคุยเป็นเรื่องเป็นราวเลยค่ะ บางครั้งมีหลุดพูดและขำออกมาในชีวิตจริงด้วย มีครั้งนึงเราตบหน้าตัวเองอย่างแรง โดยคนที่ตบเขาให้เหตุผลว่าเพราะเราทำตัวไม่ดี เป็นครั้งเดียวที่เราไม่ได้ควบคุมตัวเอง นอกจากนั้นคนที่เหลือก็มีตัวตนแค่ในหัวเราค่ะ เรารู้ตัวเองว่าทุกคนถูกสร้างขึ้นโดยเรา แต่เขามีความนึกคิดที่เป็นของตัวเองหมดเลยและก็ดูเหมือนเราจะสร้างเพื่อนใหม่ขึ้นเรื่อยด้วย จริงๆมันก็ดีค่ะเพราะเรามีเพื่อนคุยมีคิดด้วยว่าถ้าพวกเขาหายไปเราคงจะเคว้งเพราะไม่มีเซฟโซน แต่บางครั้งมันทำให้เราอึดอัดมากเลย เหมือนคนมันแน่นไปหมดหมกมุ่นจนต้องวาดพวกเขาออกมาเลย พอเราจะทำงานทุกคนก็พูดคุยกันจนเราเสียสมาธิ มีบางครั้งที่เราแชร์เรื่องราวที่มันตลกตอนคุยกับเพื่อนในจินตนาการลงโซเชี่ยล เพื่อนในชีวิตจริงก็ทักมาถามว่าคนนี้ใครไม่เห็นรู้จัก เราก็ไม่รู้จะตอบเขายังไงเหมือนกัน ถ้าปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆจะอันตรายไหมคะ เราอายุ18แล้วแปลกไหมคะที่มีพวกเขา แล้วมันมีชื่อเรียกอาการที่เป็นไหมคือเราคิดไปเองก่อนแล้วว่าพวกเขาน่าจะเป็นเพื่อนในจินตนาการ แล้วพวกเขาจะหายไปเมื่อไหร่คะ

    we324  พญ.นรมน
    สมาชิก

     สวัสดีค่ะคุณ we324

    อาการรู้สึกเหมือนมีเพื่อน หรือคนบุคลิกต่างๆกันอยู่ในจิตนตนาการของเรานั้น ถ้าป็นแค่ชั่วคราว อาจจะเป็นกลไกปกติ กล่าวคือในคนที่มีความเครียด ความกังวลมากๆ อาจจะมีการพูดหรือระบายความคิดกับตนเองในหัวเพื่อปรับทุกข์ได้ แต่หากอาการดังกล่าวมาเป็นต่อเนื่อง รู้สึกจริงจังกับความคิดนั้นๆมากๆ หรือมีเสียงในหัวบอกให้ทำอะไรต่างๆที่ไม่อยากทำด้วยนั้น อาจจะเข้าข่ายกลุ่มโรคจิตเภท หรือ กลุ่มความผิดปกติทางการควบคุมอารมณ์บางชนิดได้เช่นกัน

    ซึ่งในเบื้องต้น พยายามตั้งสติ อยู่กับความเป็นจริง อยู่กับปัจจุบันให้มากกที่สุด หาสิ่งที่ชอบทำ ใช้เวลากับเพื่อนหรือคนในครอบครัวให้มากขึ้น ร่วมกับสังเกตอาการ ถ้าเสียงในหัวหรือคนในจินตนาการต่างๆมาบ่อยๆ หรือสั่งให้ทำอะไรที่เป็นอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม และรับการรักษาอย่างเหมาะสมเช่นการใช้ยา หรือการทำจิตบำบัดต่อไป