ตั้งครรภ์ เสียงดนตรี และผลดีต่อเด็กในท้อง

การฟังเพลงขณะตั้งครรภ์อาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณแม่หลายท่านก็เชื่อว่าการฟังเพลงหรือเสียงดนตรีในขณะตั้งครรภ์จะทำให้ลูกน้อยในท้องฉลาดและมีพัฒนาการที่ในด้านต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ แต่ความเชื่อเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ?

1695 ตั้งครรภ์ กับดนตรี resized

ทารกในครรภ์ได้ยินเสียงดนตรีจริงหรือ ?

เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เปล่งเสียงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ จะทำให้อวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกเสียงเกิดการสั่น เช่น การอ่านออกเสียง การพูด หรือการร้องเพลง เป็นต้น โดยเด็กในท้องจะสามารถรับรู้ได้ถึงการสั่นนั้น และจะเริ่มได้เป็นคำพูดหรือเสียงต่าง ๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหากเด็กมีอายุถึง 23 สัปดาห์ ซึ่งเด็กอาจขยับหรือแสดงท่าทางออกมาเพื่อตอบสนองต่อเสียงนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ ทารกอาจมีพัฒนาการในด้านการรับรู้และความสามารถตามธรรมชาติจากการได้ยินเสียงต่าง ๆ ขณะอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลง การอ่านนิทาน หรือการพูดคุยกับลูกน้อยในท้อง

ดนตรีแนวไหนที่เหมาะกับทารกในครรภ์ ?

แม้เพลงสำหรับทารกในครรภ์ที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นเพลงที่มีทำนองและคำร้องง่าย ๆ ที่ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นเพลงแนวไหนก็ได้ที่คุณแม่รู้สึกชื่นชอบหรือฟังแล้วรู้สึกดี โดยคุณแม่อาจเลือกเปิดเพลงตามเพลย์ลิสต์สำหรับคนท้องตามอินเทอร์เน็ต ในขณะที่คุณแม่บางคนก็อาจเลือกฟังเพลงฝึกสมาธิหรือฟังเพลงยอดนิยมตามกระแสก็ได้เช่นกัน ดังนั้น เสียงเพลงที่เหมาะกับลูกน้อยอาจแตกต่างกันไปตามรสนิยมของคุณแม่แต่ละคน เพราะยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ ในปัจจุบันที่ระบุถึงแนวเพลงที่เหมาะสมสำหรับทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน

ดนตรีทำให้ลูกในท้องฉลาดขึ้นได้หรือไม่ ?

คุณแม่บางท่านอาจเคยได้ยินมาว่า การฟังเพลงขณะตั้งครรภ์อาจช่วยให้ทารกที่คลอดออกมาฉลาดด้านคณิตศาสตร์หรือมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ดีเป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีงานวิจัยใดพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าการเปิดเพลงให้ทารกในท้องฟังขณะตั้งครรภ์จะเป็นผลดีในระยะยาวหรือช่วยเสริมทักษะความรู้ความสามารถของทารกหลังคลอดได้ ดังนั้น การเปิดเพลงฟังขณะตั้งครรภ์อาจเน้นประโยชน์ในด้านการผ่อนคลายหรือช่วยส่งเสริมการนอนหลับของคุณแม่ให้หลับสบายขึ้นมากกว่า

เปิดดนตรีให้ทารกฟังอย่างไร ?

คุณแม่ที่ต้องการเปิดดนตรีให้ทารกในครรภ์ฟังสามารถใช้วิธีทั่วไปเหมือนการฟังเพลงปกติ เช่น ฟังเพลงในงานคอนเสิร์ต ฟังดนตรีในโรงหนัง ฟังเพลงด้วยหูฟัง หรือเปิดเพลงผ่านเครื่องเสียงและลำโพง เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรตระหนักถึง คือ ระดับความดังของเสียง เพราะการเปิดดนตรีเสียงดังเกินไป หรือการเปิดดนตรีใกล้กับครรภ์อย่างการนำหูฟังมาครอบหรือมาจ่อที่ครรภ์โดยตรงนั้น อาจทำให้ทารกในครรภ์ตกใจหรือถูกกระตุ้นมากเกินไป

โดยระดับเสียงดนตรีที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 65 เดซิเบล ซึ่งอาจเทียบง่าย ๆ ว่าความดังจะอยู่ประมาณเพลงที่เปิดคลอในห้างสรรพสินค้า แต่หากต้องการฟังเพลงติดต่อกันเป็นเวลานาน คุณแม่ควรปรับระดับเสียงให้ต่ำกว่า 50 เดซิเบล หรือเทียบเท่าระดับเสียงของการสนทนากันตามปกติในชีวิตประจำวัน