ตัดเหงือก

ความหมาย ตัดเหงือก

ตัดเหงือก เสริมความมั่นใจ

ตัดเหงือก (Gum Contouring Surgery) หรือการปรับรูปร่างเหงือก เป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมเพื่อความงามที่สามารถทำให้แนวเหงือกที่ไม่เสมอกันดูเสมอกันและสมดุลขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวมีความมั่นใจมากขึ้น

ตัดเหงือก

เหงือกที่ไม่สม่ำเสมอกันเป็นอย่างไรและเกิดจากอะไร ?

ปัจจัยที่ทำให้เหงือกไม่สม่ำเสมอกัน ได้แก่

  • เหงือกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่จนทำให้ฟันดูเล็กลง โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ปัญหาสุขภาพบางอย่าง หรือการใช้ยารักษาโรค
  • เหงือกอยู่สูงกว่าปกติ หรือยื่นออกมามากเกินจนทำให้ฟันดูยาวกว่าปกติ โดยมักมีสาเหตุมาจากเหงือกร่น ซึ่งไม่ได้เพียงแต่ทำให้ฟันดูยาวขึ้น แต่ยังสามารถเกิดปัญหาทางทันตกรรมที่รุนแรงได้ เช่น ฟันผุ และสูญเสียฟัน

การตัดเหงือกหรือการตัดแต่งรูปร่างเหงือกมีความจำเป็นหรือไม่ ?

โดยส่วนใหญ่แล้วการตัดเหงือจะไม่ใช่วิธีที่จำเป็นทางการแพทย์ แต่มักทำเพื่อความงามหรือปรับปรุงบุคลิกภาพ หรือบางคนอาจมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขรูปร่างฟัน เช่น การศัลยกรรมแก้ไขความยาวของฟัน (Crown Lengthening) เป็นต้น

ขั้นตอนตัดแต่งเหงือก

ปัจจุบันทันตแพทย์จะใช้วิธีการตัดแต่งเหงือกด้วยการใช้มีดผ่าตัด เลเซอร์ และรังสีศัลยกรรม ซึ่งจะมีการพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

เบื้องต้นจะเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์ถึงเป้าหมายในการรักษา จากนั้นจะให้ผู้ป่วยทำเอกซเรย์เพื่อประเมินสุขภาพฟัน จากนั้นทันตแพทย์จะตรวจช่องปากโดยละเอียด เพื่อวางแผนขั้นตอนการรักษา เช่น เคลียร์ช่องปากและกำหนดจุดผ่าตัด

เมื่อเริ่มขั้นตอน ทันตแพทย์จะกำหนดจุดที่เหงือกก่อนการผ่าตัด ใช้ยาชาที่บริเวณดังกล่าว จากนั้นแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดหรืออุปกรณ์เลเซอร์เพื่อตัดเหงือกที่เป็นส่วนเกินหรือคลุมฟันหน้าออก และปรับรูปเหงือกให้เกิดความสมดุล

ขั้นตอนมักจะเสร็จสิ้นในวันที่เข้ารับการรักษา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีการนัดมาดูผลซ้ำอีกครั้ง

การดูแลหลังจากการตัดแต่งเหงือก

เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยและไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่มาก และมักไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยส่วนใหญ่ หลังจากเสร็จขั้นตอนแล้วก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจต้องพักผ่อนและงดทำกิจกรรม โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะหายดี นอกจากนั้น ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตัวในระหว่างการฟื้นฟู โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  • หากเกิดอาการเจ็บปวด สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา โดยควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ และไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้แผลมีเลือดออกได้
  • ในช่วงแรกของการฟื้นฟู ควรรับประทานอาหารที่ไม่แข็งจนเกินไป หรือรับประทานอาหารที่เย็น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดจนกว่าแผลจะหายดี
  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เช่น วิธีการแปรงฟันในระหว่างที่แผลยังไม่หายดี เป็นต้น
  • หากพบว่ามีอาการบวมแดง หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

ผลข้างเคียงจากการตัดเหงือก

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น คือ การแพ้ยาชา หรือการติดเชื้อและอาการบวมที่ไม่รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อย นอกจากนั้น ผู้เข้ารับการรักษาที่ต้องตัดเอาเหงือกออกไปมาก อาจทำให้การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดใช้ระยะเวลานานกว่าจะหายดี ซึ่งในระหว่างนั้นอาจมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการบวมได้ หรือบางรายพบว่าต้องกลับไปแก้ไขกับแพทย์ที่ให้การรักษาอีกครั้ง

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลของการรักษาออกมาได้อย่างที่ต้องการ ผู้ที่เข้ารักษาควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงความเหมาะสมและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้