ชวนรู้จักน้ำมันเมล็ดกัญชง ประโยชน์ต่อสุขภาพที่เราเลือกได้

แม้ในปัจจุบัน น้ำมันเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) จะถูกนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างถูกกฎหมาย แต่หลายคนยังคงมีความกังวลที่จะใช้น้ำมันเมล็ดกัญชงหรืออาจไม่ทราบว่าถึงคุณประโยชน์ดี ๆ ของเจ้าน้ำมันชนิดนี้เลย บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนไปรู้จักน้ำมันเมล็ดกัญชงและประโยชน์ของมันให้มากขึ้น 

กัญชงเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 มาก่อน แม้จะผ่านการปลดล็อกมาแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถใช้กัญชงได้ทุกส่วน เนื่องจากส่วนยอดหรือช่อดอกยังถือเป็นยาเสพติดเช่นเดิม การปลูกและผลิตสารสกัดจากกัญชงยังต้องขออนุญาตตามกฎหมาย ส่วนผลิตภัณฑ์จากน้ำมันกัญชงนั้นจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ คือต้องได้รับการควบคุมคุณภาพและผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

ชวนรู้จักน้ำมันเมล็ดกัญชง ประโยชน์ต่อสุขภาพที่เราเลือกได้

ประเด็นที่ผู้บริโภคอาจเป็นกังวลคือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) ที่พบในพืชจำพวกกัญชงและกัญชา ซึ่งเป็นต้นเหตุของความรู้สึกเคลิ้ม มึนเมา และก่อให้เกิดการเสพติด แต่จริง ๆ แล้ว กัญชงมีปริมาณสารดังกล่าวน้อยมากเมื่อเทียบกับกัญชา อีกทั้งยังมีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) ที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเคลิ้มสุขและมีประโยชน์ทางสุขภาพด้วย

ประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดกัญชง

น้ำมันเมล็ดกัญชงมีส่วนประกอบที่สำคัญต่อร่างกายของเราไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) และกรดแกรมมาไลโนเลนิก (Gamma-Linolenic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 6 กรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 รวมถึงมีวิตามินบี วิตามินดี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ

การรับประทานน้ำมันเมล็ดกัญชงจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพของเราในหลาย ๆ ด้าน อาทิ

1. ดีต่อสุขภาพผิวพรรณ

น้ำมันเมล็ดกัญชงนั้นอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนอย่างโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 อันมีส่วนช่วยในการดูแลผิวพรรณ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ปกป้องผิวจากการอักเสบหรือริ้วรอยตามวัย และอาจช่วยแก้ปัญหาผิว เช่น สิว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)   

งานวิจัยเกี่ยวกับโอเมก้าทั้ง 2 ชนิด พบคุณสมบัติต้านอาการอักเสบ จึงอาจนำมาใช้ในการดูแลรักษาสิว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคสะเก็ดเงินได้ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต โดยสัดส่วนของโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจะอยู่ที่ 3 : 1 ส่วน

นอกจากนี้ งานวิจัยทางด้านผิวหนังยังเผยอีกว่า การรับประทานน้ำมันเมล็ดกัญชงช่วยบรรเทาอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังให้ดีขึ้นได้ โดยอาจเป็นผลมาจากกรดไขมันดีชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำมันเมล็ดกัญชงนั่นเอง   

2. บำรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

กรดไลโนเลอิกมีบทบาทสำคัญในการบำรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจช่วยลดระดับคอเลสตอรอลในร่างกาย ส่งผลให้ความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองลดลง ซึ่งน้ำมันเมล็ดกัญชงก็มีส่วนประกอบของกรดไลโนเลอิกในปริมาณมาก จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจช่วยดูแลสุขภาพหัวใจได้  

งานวิจัยบางส่วนแสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีกรดไลโนเลอิกสูงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) ในทำนองเดียวกันก็มีผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า การรับประทานกรดไลโนเลอิกและกรดอัลฟาไลโนเลนิกส่งผลให้คนที่สุขภาพดีมีความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง

การรับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 ควบคู่กับยารักษาความดันโลหิตสูง ยังอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ด้วย แต่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ต้องการรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น

3. ลดอาการปวดและอักเสบ

ด้วยคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบของกรดไขมันชนิดดีในน้ำมันเมล็ดกัญชง จึงมีแนวโน้มที่น้ำมันเมล็ดกัญชงจะช่วยลดปวดได้ จากการค้นคว้าเกี่ยวกับกรดแกรมมาไลโนเลนิกก็พบประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจากโรคที่เกิดการอักเสบต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 

นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่าการรับประทานกรดกรดแกรมมาไลโนเลนิกติดต่อกัน 6–12 เดือน ยังช่วยลดอาการและป้องกันเส้นประสาทถูกทำลายในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ที่มีอาการปวดจากเส้นประสาท โดยค่อนข้างได้ผลดีในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอยู่แล้ว

ประโยชน์ของน้ำมันเมล็ดกัญชงที่อาจเป็นไปได้ยังมีอีกมาก เช่น ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยบำรุงสมอง ซึ่งต้องศึกษาวิจัยกันต่อไปให้แน่ชัดว่า น้ำมันเมล็ดกัญชงมีประสิทธิภาพในด้านเหล่านี้จริงหรือไม่ และมีความปลอดภัยต่อร่างกายผู้บริโภคมากแค่ไหน ผู้บริโภคที่สนใจซื้อน้ำมันเมล็ดกัญชงมารับประทานจึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชก่อนเสมอ

คำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดกัญชง 

นอกเหนือจากส่วนประกอบของกรดไขมันดีในน้ำมันเมล็ดกัญชงแล้ว บางผลิตภัณฑ์ยังเพิ่มสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น น้ำมันกระเทียม น้ำมันถั่วดาวอินคา น้ำมันงาดำ น้ำมันจมูกข้าว หรือวิตามินบีรวม เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีเวลาหรือใช้ชีวิตประวันด้วยความเร่งรีบ

หากผู้บริโภคสนใจควรศึกษาข้อมูลหรือขอคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรก่อนการเลือกซื้อ และควรคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตและตัวผลิตภัณฑ์ คำเตือนของผลิตภัณฑ์ รวมถึงสภาวะทางสุขภาพของตนเอง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เช่น  

  • เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดกัญชง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดกัญชง โดยเฉพาะผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำหรือวางแผนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากน้ำมันเมล็ดกัญชงอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ 
  • ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC สาร CBD หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดกัญชง
  • ผู้บริโภคที่พบความผิดปกติใด ๆ หลังรับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดกัญชง ควรหยุดใช้ แล้วไปพบแพทย์ทันที

เนื่องจากน้ำมันเมล็ดกัญชงจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ จึงมีข้อจำกัดมากมายตั้งแต่การขออนุญาต การผลิต และการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ หากไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อาจเสี่ยงมีโทษตามกฎหมายได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ไม่ใช้ส่วนของใบมียอดหรือช่อดอกติดมาด้วยมาผลิต เพราะจัดเป็นยาเสพติดให้โทษเช่นเดิม 
  • ปริมาณสาร THC ต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/ น้ำมันเมล็ดกัญชง 1 กิโลกรัม และปริมาณสาร CBD ต้องไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/ น้ำมันเมล็ดกัญชง 1 กิโลกรัม
  • ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคก่อโรคชนิดอื่น ๆ ไม่มีสิ่งแปลกปลอม ไม่มีกลิ่นหืน
  • ฉลากบรรจุภัณฑ์ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ระบุเลขอย. และส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ให้ครบถ้วน โดยไม่กล่าวอ้างถึงชนิดและปริมาณสาร THC และสาร CBD รวมถึงรูปภาพประกอบจะต้องเป็นภาพเมล็ดกัญชงเท่านั้น

น้ำมันเมล็ดกัญชงยังต้องการการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในระยะยาว จึงไม่ควรนำมาใช้เพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ อีกทั้งผู้บริโภคต้องไม่ลืมว่าการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนอย่างเพียงพอ งดดื่มสุราและสบูบุหรี่ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเราให้แข็งแรงได้ทั้งกายและใจ จึงไม่ควรละเลย หรือนำน้ำมันเมล็ดกัญชงมาแทนที่

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD 

อัพเดทล่าสุด 27 มิ.ย. 2565 

ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์

เอกสารอ้างอิง 

  • Cerino, et al. (2021). A Review of Hemp as Food and Nutritional Supplement. Cannabis and Cannabinoid Research, 6(1), pp. 19–27. 
  • Balic, et al. (2020). Omega-3 Versus Omega-6 Polyunsaturated Fatty Acids in the Prevention and Treatment of Inflammatory Skin Diseases. International Journal of Molecular Sciences, 21(3), pp. 741. 
  • Froyen, E., & Burns-Whitmore, B. (2020). The Effects of Linoleic Acid Consumption on Lipid Risk Markers for Cardiovascular Disease in Healthy Individuals: A Review of Human Intervention Trials. Nutrients, 12(8), pp. 2329.
  • American Heart Association (2015). Polyunsaturated Fat.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง. (2564, 4 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (2021). ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ในอุตสาหกรรมอาหาร.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (2021). เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ในอุตสาหกรรมอาหาร.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. กัญชา กัญชงที่ผลิตในประเทศส่วนไหนเป็น - ไม่เป็นยาเสพติด ตามประกาศ สธ. เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563. 
  • Harvard T.H. Chan School of Public Health (2014). Dietary Linoleic Acid and Risk of Coronary Heart Disease.
  • Ferguson, S. Healthline (2020). Hemp vs. Marijuana: What’s the Difference?.
  • Frothingham, S. Healthline (2019). What Are the Benefits of Hemp Oil?.
  • Palmer, A. Verywell Health (2021). How to Use Hemp Oil for the Skin.
  • Christiansen, S. Verywell Health (2021). What Is Hemp? Nutritional Advantages of Eating Hemp Seeds and Hempseed Oil.
  • WebMD. Alpha-Linolenic Acid (ALA) - Uses, Side Effects, and More.
  • WebMD. Gamma-Linolenic Acid (GLA) - Uses, Side Effects, and More.
  • WebMD. Health Benefits of Hemp Seed Oil.
  • Fries, W. WebMD. Natural Skin Care: The Skinny on Fats.