ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกันได้ไหม และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่

การฉีดวัคซีนโควิด-19 (COVID-19) เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น แต่หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน จึงทำให้การฉีดวัคซีนล่าช้าออกไป นักวิจัยบางส่วนจึงเสนอให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกันเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด 

นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 อีกด้วย ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกัน และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งอาจช่วยคลายข้อสงสัยให้แก่คุณ

ในปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 หลักที่ได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีน AZD1222 จากบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10–12 สัปดาห์
  • วัคซีน CoronaVac จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2–4 สัปดาห์

หากมีเหตุจำเป็นในการได้รับวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด สามารถเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ไม่เกิน 16 สัปดาห์ และให้บุคคลนั้นรับวัคซีนต่อเนื่องโดยเร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดเข็มที่ 1 ใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนทางเลือกให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพิ่มอีก 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) โมเดอร์นา (Moderna) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และไฟเซอร์–ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech)

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกันได้ไหม และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกันได้หรือไม่?

หลายคนอาจมีคำถามว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มที่สองต่างชนิดและต่างยี่ห้อกัน สามารถทำได้หรือไม่ และจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้นหรือจะก่อให้เกิดผลข้างเคียง จริง ๆ แล้วการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่นำมาใช้ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโม​คอคคัส (Pneumococcal Disease) ให้มีประสิทธิภาพการป้องกันสูงขึ้น

ทั้งนี้ นักวิจัยหลายประเทศกำลังศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัคซีนแก่ประชาชนในอนาคต เช่น

  • การศึกษา Com-Cov ซึ่งจัดทำโดยระบบบริการ​สุขภาพแห่งชาติ (NHS) สหราชอาณาจักร ซึ่งศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันและการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 820 คนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน โดยใช้วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนกาและไฟเซอร์–ไบโอเอ็นเทค ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
  • การวิจัยของสำนักงานอาหารและยาในประเทศจีน (NIFDC) ทำการทดลองในหนูแล้วพบว่า การฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะในเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนชนิดรีคอมบิแนนท์ซับยูนิต (Recombinant Subunit Vaccine) หรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA Vaccine) ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันเพื่อป้องกันโควิด-19 จึงจำเป็นต้องรอการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19

สำหรับการศึกษาวิจัยประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สลับชนิดกัน โดยใช้วัคซีนจากบริษัทซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา เพื่อศึกษาข้อมูลก่อนนำไปใช้จริง 

จากข้อมูลในปัจจุบันกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ชนิดเดียวกับเข็มแรกไปก่อน จนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยที่แน่ชัดเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากวัคซีนชนิดเดิม

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในด้านระยะเวลาของการป้องกันโรคหลังการฉีดวัคซีนว่าสามารถป้องกัน​การติดเชื้อโควิด-19 ได้นานเพียงใด จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ยาวนานกว่าการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม

ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิจัยด้านประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมหลังการรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ต่างชนิดกับวัคซีน 2 เข็มแรก ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการศึกษาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

ในส่วนของประเทศไทย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากข้อมูลในขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 โดยใช้วัคซีนต่างชนิดกันกับวัคซีน 2 เข็มแรกเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงยังต้องรอผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาขึ้นในเวลาที่จำกัด ข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันและการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในขณะนี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและความปลอดภัยอย่างแน่ชัด จึงสรุปว่าควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม และยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต ยกเว้นในกรณีที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนเข็มแรก หรือไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้

ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564