ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ความหมาย ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่บางคนอาจต้องเผชิญหลังคลอดบุตร โดยอาจมีอาการซึมเศร้า เสียใจ วิตกกังวล และอ่อนเพลียมากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หากมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม และหากมีอาการรุนแรงอย่างหลอน มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตาย คนรอบข้างควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

1632 Postpartum Depression Resized

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดขึ้นในช่วงปีแรกหลังจากคลอดบุตร โดยอาการที่มักพบได้ มีดังนี้

  • รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
  • วิตกกังวลมากผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
  • มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
  • รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
  • มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
  • มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
  • กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
  • มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดควรไปพบแพทย์หากอาการข้างต้นไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ มีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดูแลลูกน้อยและการใช้ชีวิตประจำวัน และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดหากคุณแม่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองและเด็ก โดยคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลเด็กชั่วคราว เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวแม่และเด็กได้

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
  • สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
  • มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
  • ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
  • แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
  • ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
  • ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในผู้หญิงแต่ละคนค่อนข้างแตกต่างกันไป หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะนี้จึงควรไปพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะพูดคุยและสอบถามอาการเพื่อระบุว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย หรืออาจเจาะเลือดไปตรวจหากสงสัยว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากภาวะอื่น เช่น ไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ และไม่ใช่ความรู้สึกอ่อนแอเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมาและซื่อตรงกับตัวเอง เพื่อให้แพทย์และคนใกล้ชิดสสามารถร่วมมือกันช่วยให้การรักษาเป็นไปในทางที่ดี โดยในขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกาย หรือเข้าร่วมกลุ่มให้คำปรึกษา เป็นต้น

โดยการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะคล้ายกับการรักษาโรคซึมเศร้า วิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ มีดังนี้

  • จิตบำบัด เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมานั่งพูดคุยไปพร้อมกันด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีหรือสบายใจขึ้น
  • ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า มักใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป ทว่าในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณแม่ใช้ยานี้ในการรักษาด้วย โดยยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมได้ แต่ก็มียาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงกับทารกได้น้อย ดังนั้น เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดด้วย

สำหรับการเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาว่าการรักษาใดเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยอาจใช้การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ซึ่งหากการรักษาเป็นไปด้วยดี ผู้ป่วยจะดีขึ้นภายในเวลา 6 เดือน แต่ก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น และบางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดแม้จะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ในระยะยาว และอาจส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวได้ โดยเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง เช่น ทำให้คุณแม่กลายเป็นโรคซึมเศร้า และส่งผลต่อความสามารถในการเลี้ยงดูทารกจนทำให้ทำหน้าที่แม่ได้อย่างไม่เต็มความสามารถ เป็นต้น และแม้จะรับการรักษาแล้วก็ยังมีความเสี่ยงที่คุณแม่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ในภายหลังเช่นกัน

ส่วนผลกระทบต่อลูก ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจทำให้ทารกมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น นอนหลับยาก ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร ร้องไห้มากผิดปกติ เป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีปัญหาพัฒนาการทางภาษา เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณพ่อของเด็กก็อาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในครอบครัวไปด้วย ซึ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น เพราะจากเดิมคุณพ่อมือใหม่ก็เสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้อยู่แล้วแม้ภรรยาจะไม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็ตาม

การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยดูแลสุขภาพกายใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นหลัังจากคลอดบุตร ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม
  • หาเวลาพักผ่อนระหว่างวันบ้าง โดยขอให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูกในช่วงที่คุณแม่งีบหลับ
  • หากเคยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ หรือหากพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะติดตามอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติแพทย์จะเริ่มทำการรักษาทันที เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
  • หลังจากคลอดบุตรแล้ว คุณแม่ที่คิดว่าตนเองมีภาวะนี้หรือเคยมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังคลอดแต่เนิ่น ๆ เพื่อประเมินอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะยิ่งตรวจพบและเข้ารับการรักษาเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น