จั๊กจี้ เกิดจากอะไรกันแน่

จั๊กจี้ เป็นความรู้สึกที่ให้ความหมายตรงตัวได้ยาก งานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ความหมายของการจั๊กจี้โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ความรู้สึกคล้ายอาการคันจากการสัมผัสผิวหนังตามร่างกายอย่างแผ่วเบา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทำให้หัวเราะ และอีกชนิดคือความรู้สึกจากแรงกดซ้ำ ๆ บนร่างกายตามจุดจั๊กจี้ เช่น ซี่โครงหรือบริเวณรักแร้ ที่จะทำให้ยิ้มหรือหัวเราะออกมา

จั๊กจี้

สาเหตุที่ทำให้คนเรารู้สึกจั๊กจี้ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด บางทฤษฎีคาดว่าเกิดจากกลไกการป้องกันตัว เพื่อป้องกันจุดที่บาดเจ็บได้ง่ายของร่างกาย หรือบางทฤษฎีก็กล่าวว่าการจั๊กจี้จะช่วยสร้างความผูกพันทางสังคมระหว่างผู้จั๊กจี้กับผู้ถูกจั้๊กจี้ เนื่องจากการหัวเราะนั้นอาจก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในทางที่ดีแก่ทั้งสองฝ่าย

จั๊กจี้มีกี่ชนิด อะไรบ้าง ?

ความรู้สึกจั๊กจี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ตามความหมายที่มีงานวิจัยอ้างไว้ ได้แก่

  • Knismesis คือความรู้สึกแปลก ๆ คล้ายอาการคันที่เกิดจากการสัมผัสผิวหนังตามร่างกายอย่างแผ่วเบา เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย และรู้สึกได้แม้จะเป็นการสัมผัสโดยตนเอง เช่น การลากนิ้ว ขนนก สำลีไปมาบนผิวหนัง หรือการมีแมลงไต่ ซึ่งการจั๊กจี้ลักษณะนี้ไม่ทำให้หัวเราะ แต่อาจสร้างความรำคาญใจ และตอบสนองด้วยการเกาบริเวณที่รู้สึก บางคนจึงเข้าใจไปว่าตนเองเกิดอาการคันมากกว่าจั๊กจี้
  • Gargalesis คือความรู้สึกที่ทำให้ผู้ถูกจั๊กจี้หัวเราะออกมาเมื่อได้รับแรงกดซ้ำ ๆ ตามส่วนที่อ่อนไหวต่อการจั๊กจี้บนร่างกาย โดยมักเป็นจุดที่เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เช่น บริเวณคอ ท้อง ด้านข้างลำตัว เท้า และรักแร้ รวมถึงจุดอื่น ๆ ตามร่างกาย เช่น บริเวณใกล้รูหู หน้าอก และอวัยวะเพศ ความรู้สึกจั๊กจี้ชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อถูกจั๊กจี้โดยบุคคลอื่นและส่งผลให้หัวเราะออกมา ในขณะที่การพยายามจั๊กจี้ตนเองนั้นไม่ทำให้หัวเราะหรือมีปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ  ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงการจั๊กจี้ชนิดนี้เป็นหลัก

ทำไมจึงหัวเราะเมื่อถูกจั๊กจี้ ?

ในปัจจุบันมีทฤษฎีมากมายอ้างถึงสาเหตุของการหัวเราะเมื่อถูกจั๊กจี้ แต่ยังไม่มีทฤษฎีใดที่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าการหัวเราะเมื่อถูกจั๊กจี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรู้สึกสนุกหรือตลก แต่อาจเกิดจากการตอบสนองทางอารมณ์โดยอัตโนมัติ เนื่องจากสมองส่วนไฮโพทาลามัสซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาทางอารมณ์และการตอบสนองต่อความเจ็บปวดจะถูกกระตุ้น ทำให้หัวเราะเมื่อถูกจั๊กจี้

ทำไมถึงไม่รู้สึกจั๊กจี้ เมื่อพยายามจั๊กจี้ตนเอง ?

นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ โดยจากการทดลองหนึ่งที่ศึกษากระบวนการรับรู้ของสมอง ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทดลองเปรียบเทียบระหว่างความรู้สึกจั๊กจี้ที่เกิดขึ้นจากแรงภายนอกที่มากระทำและแรงที่กระทำโดยตนเอง ซึ่งผู้เข้าร่วมไม่ทราบว่าแรงทั้ง 2 ชนิดถูกตั้งค่าให้มีปริมาณเท่ากัน ผลลัพธ์ปรากฏว่าทุกคนรู้สึกถึงแรงภายนอกที่มากระทำในปริมาณมากกว่าแรงที่กระทำโดยตนเอง

ผลลัพธ์การศึกษาดังกล่าวอธิบายได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่สมองสั่งการเคลื่อนไหว สมองจะคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกายล่วงหน้าได้และพยายามลดการรับรู้ของประสาทสัมผัสลง เพราะหากร่างกายคงการรับรู้ถึงการกระทำของตนเองตลอดเวลา จะส่งผลให้ประสาทสัมผัสทำงานเกินขีดจำกัดและบั่นทอนความสามารถในการรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอก ดังนั้น ร่างกายจึงไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อพยายามจั๊กจี้ตนเอง

จั๊กจี้กับการลงโทษ

บางครั้งการจั๊กจี้อาจสร้างความทรมานแก่ผู้ถูกจั๊กจี้ โดยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงบทลงโทษที่นำการจั๊กจี้มาใช้ เช่น นิกายโปรเตสแตนต์ที่นำการจั๊กจี้มาลงโทษผู้ละเมิดกฎจนถึงแก่ความตายในศตวรรษที่ 16 หรือในยุคจักรวรรดิโรมันโบราณที่ผู้กระทำผิดจะถูกจับมัดไว้และทาเกลือจนทั่วบริเวณเท้า แล้วให้ห่านเลียเกลือออก

ประโยชน์แฝงของการจั๊กจี้

แม้การถูกจั๊กจี้อาจสร้างความทรมานให้แก่บางคน แต่หากนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็สามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้เช่นกัน งานวิจัยในปัจจุบันเริ่มกล่าวถึงความรู้สึกทางกายภาพชนิดหนึ่งที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยการสัมผัส การมองเห็น หรือการได้ยิน จนส่งผลให้เกิดความผ่อนคลาย เรียกว่า Autonomous Sensory Meridian Response:ASMR เช่น ความรู้สึกจั๊กจี้ ความเสียวซ่าน หรือความรู้สึกเย็น โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งความรู้สึกในลักษณะนี้อาจช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าและอาการปวดเรื้อรังได้ชั่วคราว

นอกจากนี้ ความรู้สึกจั๊กจี้ยังอาจช่วยเผาผลาญพลังงาน เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ว่าการหัวเราะ 10-15 นาที ส่งผลให้แคลอรี่ลดลงได้ประมาณ 10-40 แคลอรี่ อย่างไรก็ตาม อัตราแคลอรี่ที่ลดลงจากการหัวเราะนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการออกกำลังกาย

อาการบ้าจี้แก้ได้อย่างไร ?

บ้าจี้ มักนำมาใช้เรียกคนที่ถูกสัมผัสในจุดจั๊กจี้แล้วรู้สึกทรมาน และต้องหัวเราะออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ หรือคนที่หัวเราะออกมาแม้ไม่ได้ถูกสัมผัส แต่เพียงคาดการณ์ว่าอาจจะถูกสัมผัสจุดจั๊กจี้

ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีวิธีใดที่ช่วยแก้อาการบ้าจี้ได้อย่างถาวรหรือไม่ บ้างกล่าวว่าการสัมผัสจุดที่รู้สึกจั๊กจี้บ่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวและทนต่อความรู้สึกจั๊กจี้มากขึ้นอาจส่งผลให้ความรู้สึกไวต่อการสัมผัสลดลง นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนยังแนะนำว่าการวางมือของตนเองลงบนมือของผู้จั๊กจี้อาจช่วยหลอกให้สมองรับรู้ว่าเป็นการจั๊กจี้ตนเองและลดความรู้สึกจั๊กจี้ลงได้