จริงหรือมั่ว คลื่นโทรศัพท์ก่อเนื้องอกในสมองได้ ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรศัพท์มือถือคงกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของการใช้ชีวิตทุกวันนี้ไปแล้ว เพราะช่วยให้หลายสิ่งหลายอย่างกลายเป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งการติดต่อสื่อสาร การทำงาน และความบันเทิงต่าง ๆ แต่ความสะดวกสบายเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นดาบ 2 คมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหลายคนเป็นกังวลกันมากว่า คลื่นจากโทรศัพท์มือถือนั้นอาจก่อเนื้องอกในสมองได้ มาดูกันว่าความเชื่อนี้เป็นจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือแค่ความเชื่อผิด ๆ กันแน่ ?

1845 คลื่นโทรศัพท์ rs

คลื่นโทรศัพท์กับความเสี่ยงเนื้องอกหรือมะเร็งในสมอง

หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่าคลื่นรังสีบางชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันนั้นก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จะปล่อยคลื่นวิทยุออกมาทางอากาศ และอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงดูดซับพลังงานจากคลื่นวิทยุเข้าไป

อย่างไรก็ตาม คลื่นวิทยุจากโทรศัพท์มือถือจัดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไม่ได้มีพลังงานสูงพอจะทำลายดีเอ็นเอในเซลล์ได้โดยตรงจนทำให้เกิดมะเร็งได้ และไม่ได้มีความแรงมากพอจนก่อให้เกิดความร้อนถึงขั้นส่งผลต่ออุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งต่างจากรังสีเอกซเรย์ รังสีแกมมา และรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีพลังงานสูงจนสามารถทำลายพันธะในดีเอ็นเอได้ และอาจนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็งในที่สุด

ผลการค้นคว้าเกี่ยวกับอิทธิพลของคลื่นโทรศัพท์มือถือ

มีงานวิจัยหลายชิ้นพยายามหาคำตอบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมีความเชื่อมโยงกับการเกิดเนื้องอกในสมองหรือไม่ ซึ่งก็พบผลลัพธ์ที่แตกต่างหลากหลาย โดย ณ ปัจจุบันมีข้อสรุปโดยรวม ดังนี้

  • งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคนี้แต่อย่างใด และการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ส่งผลให้มีแนวโน้มเกิดเนื้องอกสมองมากขึ้น
  • จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ศีรษะข้างที่ได้รับรังสีวิทยุจากโทรศัพท์มือถือบ่อยครั้งกว่าไม่ได้มีอัตราการเกิดเนื้องอกในสมองมากกว่าแต่อย่างใด
  • แม้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การใช้โทรศัพท์มือถืออาจเกี่ยวข้องกับการเกิดเนื้องอกในสมอง โดยศึกษาในชาวสวีเดนแล้วพบว่า ผู้เข้าร่วมทดลองมีความเสี่ยงเกิดเนื้องอกในศีรษะข้างที่ใช้คุยโทรศัพท์บ่อยครั้งสูงกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้โทรศัพท์ในระยะยาวประมาณ 10 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ว่าในช่วงปีที่ทดลองนั้น อัตราของผู้ที่เป็นเนื้องอกในสมองของประเทศสวีเดนไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังมีผลลัพธ์ขัดแย้งกับงานวิจัยส่วนใหญ่ จึงทำให้งานวิจัยชิ้นนี้มีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือค่อนข้างน้อย

เนื่องจากงานวิจัยที่พบว่าการได้รับคลื่นวิทยุจากโทรศัพท์มือถือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกหรือกระทั่งเนื้อร้ายอย่างมะเร็งนั้นยังมีจำนวนน้อยมากและมีผลลัพธ์ที่ไม่สม่ำเสมอ จึงไม่อาจกล่าวยืนยันได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าวได้จริง ส่วนผลกระทบด้านอื่น ๆ นั้น มีข้อกังวลว่าคลื่นโทรศัพท์มือถืออาจรบกวนการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์บางชนิดได้ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

ป้องกันอันตรายจากคลื่นโทรศัพท์มือถืออย่างไร ?

แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าคลื่นโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างเนื้องอกในสมอง แต่จนกว่าจะมีบทสรุปที่แน่ชัด การป้องกันไว้ก่อนก็อาจช่วยให้หลายคนคลายความกังวลลงไปได้บ้าง ซึ่งวิธีป้องกันความเสี่ยงในการได้รับคลื่นวิทยุจากโทรศัพท์มือถือ ทำได้ดังนี้

  • พยายามใช้โทรศัพท์ในการพูดคุยให้สั้นลงและน้อยครั้ง คุยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรือใช้โทรศัพท์บ้านแทน
  • ใช้ลำโพงหรือหูฟังช่วยเพิ่มระยะห่างระหว่างโทรศัพท์มือถือและศีรษะในระหว่างที่คุยโทรศัพท์ เพื่อลดปริมาณคลื่นวิทยุที่ได้รับ
  • ใช้การส่งข้อความแทนการโทรศัพท์คุย แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ไม่ควรส่งข้อความหรือคุยโทรศัพท์ขณะเดินบนถนน ขับรถ หรือในสถานการณ์ใด ๆ ที่มีความเสี่ยง เพราะแม้แต่แค่คุยโทรศัพท์ก็อาจทำให้มีสมาธิจดจ่อกับสถานกาณ์ตรงหน้าได้น้อยลง
  • อาจเลือกใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอัตราการดูดซับรังสีคลื่นวิทยุเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้งานต่ำ หรือที่เรียกว่าค่า SAR (Specific Absorption Rate) ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณรังสีที่ถูกดูดซับเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือที่มีค่า SAR สูงกว่า โดยสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ผู้ผลิตหรือคู่มือการใช้โทรศัพท์ ทั้งนี้ ค่า SAR ที่ระบุนั้นเป็นค่าสูงสุด แต่ขณะใช้งานจริง ค่าดังกล่าวอาจมีระดับสูงต่ำผันแปรตามปัจจัยหลาย ๆ อย่างได้