คาร์โนซีน สารอาหารสำคัญ บำรุงสมอง เสริมความจำ

คาร์โนซีน (Carnosine) เป็นหน่วยย่อยของโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง โดยพบที่สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ ผิวหนัง และส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย คาร์โนซีนมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยเสริมการทำงานของสมองและความจำ ช่วยชะลอวัย และอาจช่วยป้องกันหรือรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งอีกด้วย

คาร์โนซีนเป็นสารไดเปปไทด์ (Dipeptide) ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนสองชนิดคือ เบต้า-อะลานีน (β-alanine) และแอล-ฮีสทิดีน (L-Histidine) แม้ว่าร่างกายจะสร้างขึ้นได้เอง แต่ปริมาณคาร์โนซีนในร่างกายอาจลดลงเมื่ออายุมากขึ้น เราจึงควรได้รับคาร์โนซีนเพิ่มเติมจากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู รวมทั้งสารสกัดในผลิตภัณฑ์ซุปไก่สกัด และอาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ

คาร์โนซีน

ประโยชน์ของคาร์โนซีน

คาร์โนซีนมีประโยชน์ที่สำคัญต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น

1. บำรุงสมองและความจำ

สมองของคนเรามีระบบป้องกันไม่ให้สารพิษและเชื้อโรคต่าง ๆ จากเลือดเข้าสู่สมอง (Blood Brain Barrier) จึงช่วยปกป้องสมองจากการได้รับอันตรายจากสารอันตรายที่อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา คาร์โนซีนสามารถผ่าน Blood Brain Barrier เข้าสู่สมอง และช่วยป้องกันความเสียหายของสมองที่เกิดจาก Reactive Oxygen Species (ROS) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่สร้างความเสียหายต่อเซลล์ และอาจนำไปสู่โรคทางสมอง

คาร์โนซีนยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ค้ำจุนระบบประสาทที่มีรูปร่างคล้ายปลาดาว ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองสารที่จะผ่านเข้าออกในสมอง ช่วยให้เลือดไหลเวียนสู่สมองได้ตามปกติ รวมทั้งควบคุมสารสื่อประสาทที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาททำงานได้ดีขึ้น

เมื่อร่างกายได้รับสารคาร์โนซีน จะส่งผลให้เซลล์ค้ำจุนประสาทแตกแขนงสาขายาวขึ้นและเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงช่วยในการเจริญเติบโตและรักษาเซลล์สมองให้อยู่ในสภาวะที่ดี รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากขึ้น

นอกจากนี้ คาร์โนซีนอาจช่วยลดความวิตกกังวล ชะลอความเหนื่อยล้าทางจิตใจ เพิ่มสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และช่วยให้สมองทำงานรวดเร็วขึ้นด้วย

2. ช่วยป้องกันและรักษาโรคทางสมอง

คาร์โนซีนอาจช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคความจำเสื่อม และโรคพาร์กินสันที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ อีกทั้งอาจช่วยป้องกันความเสียหายของสมอง เช่น ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke) และช่วยให้สมองฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น คาร์โนซีนอาจมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชและความบกพร่องทางสมองอื่น ๆ เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคลมชัก โรคออทิสติก โดยใช้ควบคู่กับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีพัฒนาการทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมได้ดีขึ้น

3. เสริมกล้ามเนื้อและสมรรถภาพร่างกาย

คาร์โนซีนเป็นสารประเภทโปรตีนที่พบมากในกล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscle) มีคุณสมบัติลดความเป็นกรดในกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการออกกำลังกาย และช่วยลดการสะสมกรดแลคติก (Lactic Acid) ที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและปวดเมื่อยจากการออกกำลังกาย รวมถึงช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ คาร์โนซีนยังช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อพร่อง (Sarcopenia) ซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุ การได้รับคาร์โนซีนอย่างเพียงพอจะช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เสริมความแข็งแรงและเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยป้องกันการหกล้มและการบาดเจ็บได้

4. ชะลอความแก่ของผิว

คาร์โนซีนจัดเป็นไดเปปไทด์ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโปรตีนที่พบในผิวหนังของเรา ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายของเรา หรืออาจได้รับจากปัจจัยภายนอก เช่น รังสียูวี ควันบุหรี่ และมลภาวะ อนุมูลอิสระเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวแก่ก่อนวัย และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งผิวหนังได้

นอกจากนี้ คาร์โนซีนมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาไกลเคชัน (Antiglycation) ที่ช่วยลดการก่อตัวของ Advanced Glycation End-products (AGEs) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ทำให้ผิวสูญเสียคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่น มีริ้วรอย และดูแก่กว่าวัย

5. ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ 

คาร์โนซีนอาจนำมาใช้ป้องกันหรือรักษาโรคอื่น ๆ เช่น 

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases) และช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยอาจช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • โรคต้อกระจก คาร์โนซีนที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา จึงอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคต้อกระจกได้
  • โรคมะเร็ง คาร์โนซีนอาจช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และอาจช่วยกระตุ้นกระบวนการทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพด้วย

แหล่งที่มาของคาร์โนซีน และการรับประทานให้ได้ประโยชน์

คาร์โนซีนเป็นสารอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง และได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้น เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา และไข่ โดยจะไม่พบคาร์โนซีนในพืช ปกติแล้วคนทั่วไปสามารถรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เพื่อให้ร่างกายได้รับสารคาร์โนซีนอย่างปลอดภัยโดยไม่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับจากอาหารเหล่านี้

อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารเสริมคาร์โนซีนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แคปซูลหรือผง ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1 กรัมต่อเนื่องกันเกิน 12 สัปดาห์ ควรรับประทานตามปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก โดยผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรรับประทานอาหารเสริมคาร์โนซีน รวมทั้งผู้ที่รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดควรระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากอาหารเสริมคาร์โนซีนอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงผิดปกติได้

ส่วนผู้ที่เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นที่มีส่วนผสมของคาร์โนซีน เช่น ซุปไก่สกัด ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล โดยผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานคือในช่วงเช้า ซึ่งคาร์โนซีนในซุปไก่สกัดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จึงช่วยเพิ่มพลังกายและบำรุงสมองให้พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทุกวัน

กรณีที่ใช้ยาอื่นหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเกาต์ โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ก็ตาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ที่มีคาร์โนซีนควรเก็บในที่แห้งและเย็น ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง และตรวจดูวันหมดอายุก่อนรับประทานเสมอ

การได้รับคาร์โนซีนอย่างเพียงพอจะช่วยเสริมการทำงานของสมองและความจำ เพิ่มกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารอื่นที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น กรดอะมิโน แอนเซอรีน วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ควบคู่กับคาร์โนซีน เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์จากคาร์โนซีนอย่างเต็มที่ และมีสุขภาพที่แข็งแรง

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 26 ธันวาคม 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD

เอกสารอ้างอิง 

  • Cesak, et al. (2023). Carnosine and Beta-Alanine Supplementation in Human Medicine: Narrative Review and Critical Assessment, Nutrients. 15 (7), 1770.
    https://doi.org/10.3390/nu15071770
  • Kim, et al. (2021). Carnosine Protects against Cerebral Ischemic Injury by Inhibiting Matrix-Metalloproteinases, International Journal of Molecular Sciences. 22 (14), 7495.
    https://doi.org/10.3390/ijms22147495
  • Radrezza, et al. (2021). Study of Carnosine’s effect on nude mice skin to prevent UV-A damage, Free Radical Biology and Medicine. 173, pp. 97-103.
  • Schön, et al. (2019). The Potential of Carnosine in Brain-Related Disorders: A Comprehensive Review of Current Evidence, Nutrients. 11 (6), 1196.
    https://doi.org/10.3390/nu11061196
  • Hata, et al. (2019). Association Between Serum β-Alanine and Risk of Dementia, American Journal of Epidemiology. 188 (9), pp. 1637-1645.
  • Ou-Yang, et al. (2018). Carnosine suppresses oxygen-glucose deprivation/recovery-induced proliferation and migration of reactive astrocytes of rats in vitro, Acta Pharmacologica Sinica. 39 (1), pp. 24-34.
  • Yamashita, et al. (2018). Mechanisms of carnosine-induced activation of neuronal cells. Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry. 82 (4), pp. 683-688.
  • Narda, et al. (2018) Novel Facial Cream Containing Carnosine Inhibits Formation of Advanced Glycation End-Products in Human Skin, Skin Pharmacology and Physiology. 31(6), pp. 324-331.
  • Katakura, et al. (2017). Anserine/Carnosine Supplementation Suppresses the Expression of the Inflammatory Chemokine CCL24 in Peripheral Blood Mononuclear Cells from Elderly People, Nutrients. 9 (11), 1199.
    https://doi.org/10.3390/nu9111199
  • Sherrell, Z. Medical News Today (2023). How do glial cells function in the body?.
  • MedicineNet (2022). What Does Beta-alanine Do For You and Should You Take It Every Day?.
  • Lubeck, B. Verywell Health (2023). Potential Benefits of Carnosine.
  • WebMD. Carnosine - Uses, Side Effects, And More.