คันรูทวาร สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ วิธีรับมือ และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

คันรูทวาร หรืออาการคันบริเวณรอบ ๆ รูทวารเป็นอาการที่น่าจะส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเกิดความรำคาญและไม่มั่นใจไม่น้อย โดยอาการนี้เป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่แบบไม่รุนแรงที่หายได้เอง ไปจนถึงสาเหตุที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ดังนั้น การรู้จักสาเหตุที่อาจเป็นไปได้อาจช่วยให้เราพอเห็นแนวทางการรับมือที่ถูกต้องได้

ผิวหนังบริเวณรูทวารและรอบ ๆ เป็นผิวหนังที่ค่อนข้างบอบบาง อาการคันหรือระคายเคืองบริเวณนี้จึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างง่าย เช่นในบางครั้ง สาเหตุก็อาจเป็นเพียงการได้รับสารกระตุ้น อย่างสบู่ แป้ง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือแม้แต่การเช็ดทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระเท่านั้น 

คันรูทวาร

ดังนั้น สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่ควรทำเมื่อมีอาการคันรูทวารหรืออาการคันผิวหนังบริเวณนี้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม ก็คือการหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากการเกาด้วยเล็บ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างแข็งเมื่อเทียบกับผิวหนังบริเวณรูทวาร อาจส่งผลให้อาการคันและระคายเคืองบริเวณรูทวารยิ่งรุนแรงขึ้นได้

8 สาเหตุที่มักพบของอาการคันรูทวาร

คันรูทวารเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่มักพบได้ก็เช่น

1. การระคายเคือง

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ผิวหนังบริเวณรูทวารและรอบ ๆ เป็นผิวหนังที่ค่อนข้างบอบบาง อาการระคายเคืองที่อาจนำไปสู่อาการคันรูทวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

โดยสาเหตุที่มักส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองก็เช่น การใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิด การใช้ทิชชูเช็ดแรงเกินไป การมีเศษอุจจาระตกค้างจากการทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ อาการท้องผูก อาการท้องเสียเรื้อรัง หรือการที่ผิวหนังถูกน้ำที่ร้อนเกินไป

2. อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด

กิจกรรมที่ทุกคนทำกันเป็นกิจวัตร อย่างการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด ก็อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการคันรูทวารได้ โดยผู้ที่มีอาการคันรูทวารในกลุ่มนี้มักพบว่าอาการคันจะเกิดขึ้นภายในเวลา 24–36 ชั่วโมงหลังจากที่รับประทานหรือดื่มอาหารที่เป็นสาเหตุเข้าไป

ส่วนกลุ่มอาหารที่อาจเป็นสาเหตุก็เช่น นมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมวิตามินซี อาหารที่เป็นกรด และอาหารที่มีรสเผ็ด

3. ริดสีดวง

ริดสีดวงเป็นโรคที่เกิดจากการที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวม โดยโรคนี้อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการคันรูทวารได้หลายทาง เช่น ก้อนเนื้อที่รูทวารทำให้ทำความสะอาดได้ยากจนเกิดเศษอุจจาระตกค้าง หรือก้อนเนื้อส่งผลให้ผิวหนังบริเวณรูทวารเกิดการระคายเคืองจากการมีเลือดออกและอาการควบคุมอุจจาระไม่อยู่

4. เสื้อผ้าที่สวมใส่แน่นเกินไป หรือระบายอากาศได้ไม่ดี

การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปหรือมีการระบายอากาศที่ไม่ดีอาจส่งผลให้บริเวณรอบรูทวารมีเหงื่อออกและเกิดความชื้นสะสมจนนำไปสู่อาการคันได้

5. เกิดแผลรอยแยกขอบทวารหนัก (Anal Fissure)

แผลรอยแยกขอบทวารหนัก หรือภาวะที่เยื่อบุบริเวณทวารหนักเกิดแผลเปิดขนาดเล็ก อาจส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะนี้เกิดอาการคันรูทวารได้ โดยสาเหตุของภาวะนี้ที่พบได้บ่อยก็เช่น อาการท้องผูก อาการท้องเสียเรื้อรัง การเบ่งอุจจาระที่มีลักษณะแข็งมาก ๆ และการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางรูทวาร

6. การติดเชื้อ

สำหรับบางคน การคันรูทวารอาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อได้ โดยตัวอย่างโรคที่มักพบได้ ได้แก่

  • การติดเชื้อรา โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวหนังบริเวณรูทวารมีสีที่ผิดไปจากผิวหนังรอบ ๆ ผิวหนังบริเวณรูทวารมีอาการบวม และเกิดรอยแผลเล็ก ๆ รอบรูทวาร
  • หูดหงอนไก่ หูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โดยนอกจากอาการคันรูทวารแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมักพบติ่งเนื้อบริเวณรูทวารหรืออวัยวะเพศร่วมด้วย นอกจากนี้ ติ่งเนื้อดังกล่าวยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการแสบร้อนหรือมีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณติ่งเนื้อได้
  • พยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบอาการคันรูทวารในช่วงกลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พยาธิวางไข่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจพบเส้นขาว ๆ ตามกางเกงใน หรืออุจจาระร่วมด้วย

7. โรคผิวหนังบางชนิด

โรคผิวหนังชนิดอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการคันรูทวารได้ โดยตัวอย่างโรคที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

  • โรคสะเก็ดเงิน โรคนี้เป็นโรคที่ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักพบว่าผิวหนังรอบรูทวารมีอาการแดงและคันอย่างรุนแรง รวมถึงอาจมีอาการเจ็บขณะอุจจาระร่วมด้วย
  • โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) โรคนี้จะมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้บางชนิด ซึ่งชนิดของสารก่อภูมิแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น บางคนอาจเป็นสบู่ เกสรจากพืช สารให้ความหอมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และอื่น ๆ อีกมากมาย

8. การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด

ยาปฏิชีวนะบางชนิด โดยเฉพาะชนิดที่ออกฤทธิ์กว้าง อาจส่งผลให้แบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในลำไส้ถูกรบกวนและเกิดภาวะไม่สมดุลระหว่างแบคทีเรียชนิดดีและชนิดไม่ดี จนนำไปสู่อาการคันรูทวารได้

ทั้งนี้ นอกจาก 8 ตัวอย่างสาเหตุอาการคันรูทวารที่ได้กล่าวไป อาการนี้ยังอาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น ภาวะเบาหวาน ภาวะผิดปกติทางต่อมไทรอยด์ ไตวาย โรคตับ ภาวะโลหิตจาง โรคหิด และฝีคัณฑสูตร 

วิธีรับมือกับอาการคันรูทวาร และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการคันรูทวารควรสังเกตอาการตนเองดูก่อน โดยผู้ที่มีอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรงได้

  • มีไข้ 
  • ผิวหนังบริเวณรูทวารมีสีที่ผิดปกติไป หรือมีอาการบวม
  • มีผื่นหรือติ่งเนื้อขึ้นบริเวณรูทวาร
  • มีเลือดไหลออกมาจากรูทวาร

ส่วนผู้ที่มีอาการคันรูทวารที่ไม่รุนแรงหรือไม่พบกลุ่มอาการในข้างต้น การนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้อาจช่วยบรรเทาอาการได้ในเบื้องต้น

  • หลีกเลี่ยงการเกา
  • รักษาความสะอาดบริเวณรูทวาร โดยหลังจากล้างทำความสะอาดแล้ว อาจจะใช้ทิชชูซับเบา ๆ อีกครั้งเพื่อป้องกันความอับชื้น หรือสำหรับผู้ไปในสถานที่ที่มีแต่ทิชชูให้ทำความสะอาด อาจจะเลือกใช้เป็นทิชชูเปียกแทน แต่ให้ค่อย ๆ เช็ดและหลีกเลี่ยงการขัดถูอย่างรุนแรง
  • ทาปิโตรเลียมเจลลี (Petroleum Jelly) หรือยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) แต่ก่อนใช้ควรปรึกษาเภสัชกรก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปและสามารถระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ เช่น สบู่บางชนิด หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้ตระกูลส้ม นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม อาหารรสเผ็ด มะเขือเทศ หรือซอสมะเขือเทศ
  • รับประทานผักผลไม้หรือธัญพืชเต็มเมล็ดให้มากขึ้น เนื่องจากอาหารในกลุ่มนี้เป็นอาหารที่มีใยอาหารสูง ซึ่งสารอาหารชนิดนี้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ในตระกูลส้ม เนื่องจากผลไม้ตระกูลส้มอาจส่งผลให้อาการคันรูทวารยิ่งแย่ลงได้

ทั้งนี้ หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วสักประมาณ 2–3 สัปดาห์ แต่อาการคันรูทวารยังไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกว่าอาการคันรูทวารส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีอาการควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและดุลยพินิจของแพทย์