ข้อมือหัก (Broken Wrist)

ความหมาย ข้อมือหัก (Broken Wrist)

ข้อมือหัก (Broken Wrist) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อข้อมือรับแรงกระแทกมากเกินไปจนส่งผลให้กระดูกบริเวณข้อมือหักและเกิดอาการปวดรุนแรง หรืออาจอยู่ผิดรูป สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้ข้อมือรับน้ำหนักตัวขณะล้ม

อาการข้อมือหักอาจเกิดได้หลายลักษณะและมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยกระดูกที่หักอาจเรียงกันอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือกระดูกที่หักมีการเคลื่อนตำแหน่ง กระดูกหักมากกว่าสองท่อนขึ้นไป หรือกระดูกทะลุออกมาบริเวณผิวหนัง ทั้งนี้ข้อมือหักเป็นภาวะที่ต้องเข้ารับการรักษาทันที เพราะกระดูกที่หักอาจฟื้นตัวช้า ผิดรูป และส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก

ข้อมือหัก

อาการข้อมือหัก

ผู้ที่กระดูกข้อมือหักอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • ปวดหรือเจ็บบริเวณข้อมือ โดยเฉพาะขณะขยับมือหรือข้อมือ
  • มีอาการบวมหรือฟกช้ำบริเวณข้อมือ
  • ข้อมือบิดหรืออยู่ในลักษณะผิดรูป

ในบางกรณีที่กระดูกข้อมือหักอาจกระทบต่อการไหลเวียนเลือดหรือเส้นประสาท ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการนิ้วซีด ชาบริเวณมือ ข้อมือ หรือแขน อย่างไรก็ตาม หากพบอาการในข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าอาจส่งผลให้กระดูกฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมได้ยากและอาจทำให้ข้อมือผิดรูป

สาเหตุของข้อมือหัก

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ข้อมือหักมักเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ใช้ข้อมือรับน้ำหนักตัวขณะหกล้ม ได้รับแรงกระแทกจากกีฬาบางชนิด หรือประสบอุบัติเหตุทางยานพาหนะ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ผู้ที่ร่างกายขาดแคลเซียมหรือวิตามินดี ผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย ผู้ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง หรือผู้ที่เล่นกีฬาชนิดที่เสี่ยงต่อการกระแทกหรือหกล้ม

การวินิจฉัยอาการข้อมือหัก

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยอาการข้อมือหักโดยการตรวจดูบริเวณข้อมือและเอกซเรย์ (X–Ray) เพื่อตรวจดูความเสียหายต่าง ๆ เช่น ตรวจดูกระดูกบริเวณที่หักทั้งหมด หรือตรวจดูว่ากระดูกที่หักมีการเคลื่อนตำแหน่งหรือไม่ 

นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจบริเวณข้อมือเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน หลอดเลือด และรอยกระดูกที่หัก หรือการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจรอยกระดูกที่หักและความเสียหายบริเวณเส้นเอ็น ซึ่งอาจไม่พบจากการตรวจเอกซเรย์ในขั้นแรก

การรักษาอาการข้อมือหัก

ในเบื้องต้น ผู้ที่ข้อมือหักควรรีบไปพบแพทย์และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว โดยอาจบรรเทาอาการบวมและปวดด้วยการประคบเย็นและยกข้อมือที่หักให้สูงกว่าระดับหัวใจ หรือรับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

จากนั้นแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาจากการวินิจฉัยกระดูกที่หัก ได้แก่

  • การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกที่หักเรียงตัวกันอยู่ แพทย์จะใช้อุปกรณ์พยุงหรือเฝือกเพื่อประคองให้กระดูกอยู่คงที่และทำการฟื้นตัว 
  • การรักษาแบบผ่าตัด ในกรณีที่กระดูกที่หักมีการเคลื่อนตัว แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อจัดเรียงกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมก่อนที่จะทำการใส่เฝือก โดยจะใส่อุปกรณ์ยึดกระดูกไว้ในร่างกายบริเวณที่หัก หรืออาจใช้อุปกรณ์พยุงนอกร่างกาย ขึ้นอยู่กับภาวะและตำแหน่งกระดูกที่หักของผู้ป่วย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหากกระดูกที่หักของผู้ป่วยทะลุออกมาบริเวณผิวหนัง

หากมีอาการปวดหรือบวมขณะใส่อุปกรณ์พยุงหรือเฝือก ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยการยกข้อมือให้สูงกว่าระดับหัวใจ ประคบเย็นเป็นเวลา 15–20 นาที ทุก 2–3 ชั่วโมง หรืออาจรับประทานยาบรรเทาอาการปวดตามแพทย์แนะนำ อย่างยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) และยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) แต่การรับประทานยาดังกล่าวควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของกระดูกช้าลงได้

โดยทั่วไปกระดูกที่หักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6–8 สัปดาห์ในการฟื้นตัวหรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นตัว ผู้ป่วยควรขยับนิ้วมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการตึงของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อหรือข้อติด และงดสูบบุหรี่เนื่องจากบุหรี่จะยิ่งทำให้การฟื้นตัวช้าลง

หลังจากถอดเฝือก ผู้ป่วยอาจมีอาการตึงและไม่สามารถขยับบริเวณข้อมือได้ตามปกติ ซึ่งแพทย์จะแนะนำวิธีการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการดังกล่าว โดยผู้ป่วยอาจเริ่มทำกิจกรรมเบา ๆ ได้หลังจากถอดอุปกรณ์พยุงหรือเฝือกประมาณ 1–2 เดือน หรือในกรณีที่มีการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวประมาณ 3–6 เดือน จึงจะสามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากได้ นอกจากนี้ แพทย์จะติดตามผลการรักษาโดยการเอกซเรย์ร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยบางคนอาจมีโอกาสการเกิดกระดูกเคลื่อนได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการข้อมือหัก

ผู้ป่วยข้อมือหักอาจมีอาการตึงหรือมีปัญหาในการขยับข้อมือยากกว่าปกติหลังจากถอดเฝือก หรือในบางรายที่ไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือไม่เหมาะสมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น

  • ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่การรักษาข้อมือหักผ่านไปแล้วหลายปี โดยมักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกข้อมือหักไปถึงบริเวณข้อต่อกระดูก
  • เส้นประสาทและหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงเสียหาย กระดูกที่หักอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทและหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
  • ภาวะความดันในช่องปิดกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่อุปกรณ์พยุงหรือเฝือกแน่นเกินไปจนส่งผลให้ระดับความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น
  • กลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome) กระดูกที่หักบริเวณข้อมืออาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทบริเวณข้อมือและทำให้เกิดอาการดังกล่าว
  • การติดเชื้อ หากอุปกรณ์พยุงหรือเฝือกชื้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและเกาจนเกิดแผลติดเชื้อได้
  • กระดูกเคลื่อน ผู้ป่วยอาจกระดูกเคลื่อนจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถ หรือการยกของ

การป้องกันอาการข้อมือหัก

โดยส่วนใหญ่ ข้อมือหักมักเกิดจากอุบัติเหตุ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • สวมใส่อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกระแทก หากต้องทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่อาจมีการกระแทก
  • รับประทานแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
  • ออกกำลังกายที่เน้นการสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงให้กระดูก เช่น การยกน้ำหนัก