ข้อควรรู้ในการล้างพิษด้วยคีเลชั่น

Chelation Therapy หรือคีเลชั่นบำบัด เป็นการใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิดกำจัดสารโลหะหนักออกจากร่างกาย อย่างสารตะกั่ว สารหนู ปรอท รวมทั้งใช้ขจัดสารโลหะที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแต่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ทองแดง นิกเกิล หรือเหล็ก แต่การบำบัดนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง

การบำบัดนี้เริ่มต้นโดยแพทย์จะฉีดยาหรือสารคีเลต (Chelating Agent) อย่างสารอีดีทีเอ (Ethylene Diamine Tetra Acetic Acid: EDTA) เข้าทางหลอดเลือดดำ แต่บางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานในรูปแบบของยาเม็ดหรือใช้เป็นยาเหน็บทางทวารหนัก ซึ่งสารเหล่านี้จะเข้าไปดักจับโลหะหนักต่าง ๆ ในกระแสเลือด จากนั้นจะถูกกรองผ่านทางไต และขับออกมาทางปัสสาวะในที่สุด

chelation therapy

จากหลายความเชื่อที่ว่า Chelation Therapy สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะโรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ออทิสติก อัลไซเมอร์ อัมพาต โรคเบาหวาน ช่วยลดริ้วรอยและบำรุงผิวพรรณ ซึ่งแท้จริงแล้ว คีเลชั่นบำบัดได้รับการรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้กำจัดพิษของโลหะหนักในร่างกายเท่านั้น หากนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ข้างต้นอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จึงควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาโรคเหล่านี้โดยตรง 

เตรียมตัวก่อนทำ Chelation Therapy

โดยทั่วไป ผู้ที่ไม่มีสารโลหะหนักในร่างกายนั้นไม่จำเป็นต้องทำ Chelation Therapy แต่กรณีที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย ควรไปให้แพทย์ตรวจเลือดเพื่อยืนยัน หากพบว่ามีการสะสมของโลหะหนักในร่างกายจริงก็อาจจะพิจารณาให้บำบัดตามขั้นตอนต่อไป โดยตัวอย่างของบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะซีดจากโลหิตจาง ปวดท้องเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในบริเวณที่ได้รับสารโลหะหนัก เช่น สนามยิงปืน โรงงานแบตเตอรี่ โรงเชื่อมโลหะ อู่ซ่อมรถ โรงงานผลิตสี เป็นต้น 
  • ผู้ที่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ ใช้ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก รวมถึงการสัมผัสดินหรือสูดดมสีทาบ้านที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก
  • ผู้ที่สูดดมผงฝุ่นหรือควันที่มีส่วนผสมของโลหะหนักบางชนิดเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีประวัติโดนยิงและมีกระสุนฝังอยู่ภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการแพ้สาร EDTA อย่างรุนแรง สมองผิดปกติจากตะกั่วเฉียบพลัน ไตวายในระยะที่ 4-5 ยกเว้นผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่านการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทั้งหมดหรือเคยเกิดภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ตํ่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับการบำบัดนี้ เพราะอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ที่สนใจจะทำ Chelation Therapy จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและความปลอดภัยก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและสตรีมีครรภ์

ผลข้างเคียงของการทำ Chelation Therapy

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในการบำบัดด้วยคีเลชั่น คือ อาการแสบร้อนบริเวณผิวหนังที่ถูกฉีดยา และอาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ในผู้เข้ารับการบำบัดบางรายอาจขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแคลเซียม ทองแดง สังกะสี หรือมีระดับแคลเซียมในเลือดหรือไตต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคโลหิตจาง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชัก สมองถูกทำลาย และภาวะช็อกจากปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างเฉียบพลันอีกด้วย