ข้อควรรู้ในการปฐมพยาบาลคนเป็นลม

อาการเป็นลมเกิดจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะจนทำให้หมดสติ โดยอาจเป็นผลมาจากสาเหตุทั่วไป อย่างความดันเลือดต่ำ อ่อนเพลีย ความเครียด แต่บางรายอาจเกิดจากโรคที่มีความรุนแรงอย่างโรคหัวใจได้เช่นกัน การปฐมพยาบาลคนเป็นลมอย่างถูกวิธีอาจช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะอันตรายได้

แม้ว่าอาการเป็นลมไม่ได้ร้ายแรง แต่การปฐมพยาบาลคนเป็นลมอย่างผิดวิธีอาจทำให้อาการแย่ลงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ บทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการของคนใกล้เป็นลม ขั้นตอนการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง และอาการแบบไหนที่ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว

A,Middle,Aged,Business,Woman,Is,Fainted,And,Fallen,On

การปฐมพยาบาลคนเป็นลมอย่างถูกวิธี

ผู้ที่กำลังเป็นลมมักมีอาการและสัญญาณเตือนนำมาก่อน เช่น ปวดหัว เวียนหัว ทรงตัวได้ไม่ดี หน้าซีด การมองเห็นเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีเหงื่อออกมาก รู้สึกวิตกกังวลหรือกระสับกระส่ายมากขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน และหมดสติ เป็นต้น

หากพบคนที่มีอาการคล้ายจะเป็นลมหรือเป็นลม ในเบื้องต้นควรรีบปฐมพยาบาลตามคำแนะนำต่อไปนี้

กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการบาดเจ็บ มีสติและยังหายใจได้เอง 

ผู้ให้ความช่วยเหลือควรจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบและจับขาของผู้ป่วยยกขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้มากขึ้น หากผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ควรปลดหรือคลายคอเสื้อ เข็มขัดหรือชุดที่รัดแน่นของผู้ป่วยออก เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นลมซ้ำอีกครั้ง และไม่ควรให้รีบลุกขึ้น

กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ แต่ยังคงหายใจอยู่

3154-การปฐมพยาบาลคนเป็นลม-1

การปฐมพยาบาลคนเป็นลมเบื้องต้นก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือระหว่างรอรถพยาบาลมารับ ผู้ให้ความช่วยเหลือควรจัดท่าทางของผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อให้อากาศเข้าสู่ร่างกายได้อย่างสะดวกและป้องกันการเกิดภาวะสำลัก

  • คุกเข่าลงข้าง ๆ และจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าตะแคงโดยกางแขนข้างที่อยู่ติดกับผู้ให้ความช่วยเหลือออกให้ได้ระดับเดียวกับหัวไหล่ของผู้ป่วย และหงายมือขึ้น
  • ประคองให้หลังมืออีกข้างของผู้ป่วยพาดมาแนบกับแก้มข้างที่อยู่ติดกับผู้ให้ความช่วยเหลือ
  • ใช้มืออีกข้างของผู้ให้ความช่วยเหลือจับเข่าของผู้ป่วยฝั่งที่อยู่ไกลตัวมากที่สุดชันขึ้น โดยควรให้ฝ่าเท้าอยู่ราบติดพื้น
  • ดึงเข่าด้านที่ชันขึ้นเข้ามาหาตัวของผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้อยู่ในลักษณะนอนตะแคง และให้หัวอยู่บนหลังมือที่แนบไว้ก่อนหน้านี้ จับให้หน้าเงยขึ้นเพื่อเปิดให้อากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้อย่างสะดวก
  • สังเกตลักษณะการหายใจว่ายังมีลักษณะปกติ ไม่มีอะไรขวางทางเดินลมหายใจ รวมทั้งควรสังเกตอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยตลอดเวลาจนกว่ารถฉุกเฉินจะมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติและหยุดหายใจ

3154-การปฐมพยาบาลคนเป็นลม-2

ผู้ให้ความช่วยเหลือควรติดต่อสายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ในระหว่างรอรถพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยให้ทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐานหรือ CPR ด้วยการปั๊มหัวใจ โดยเริ่มจากการคุกเข่าลงข้าง ๆ และวางมือข้างหนึ่งไว้กลางหน้าอกของผู้ป่วย ให้ส้นมืออยู่ตรงกระดูกหน้าอกส่วนล่าง

จากนั้นวางมืออีกข้างทับและกำไว้ ก่อนจะกดมือขึ้นลงประมาณ 5–6 เซนติเมตรด้วยความเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที ในลักษณะแขนเหยียดตรงและขยับเพียงร่างกายส่วนบนเท่านั้น โดยให้ปั๊มหัวใจประมาณ 30 ครั้งและสลับกับการผายปอดโดยเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง ก่อนจะวนมาทำซ้ำจนกว่าผู้ป่วยฟื้น หายใจได้ปกติ หรือมีรถฉุกเฉินมารับผู้ป่วยแล้ว แต่หากผู้ที่เข้าช่วยเหลือไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมการผายปอดมาก่อน ควรช่วยผู้ป่วยด้วยการปั๊มหัวใจเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าการเป็นลมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายและสามารถทำการปฐมพยาบาลคนเป็นลมตามคำแนะนำต่าง ๆ ได้ แต่ผู้ที่เป็นลมควรพบแพทย์หากมีศีรษะกระแทกร่วมด้วย เป็นลมมากกว่า 1 ครั้งภายใน 1 เดือน ตั้งครรภ์ เป็นผู้ป่วยโรคประจำตัวร้ายแรง มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นร่วมด้วย อาทิ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ตามัว สับสนมึนงงหรือพูดลำบาก หรือเป็นผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่พบภาวะหัวใจทำงานผิดปกติมากขึ้น

นอกจากนี้ หากริมฝีปากหรือหน้าเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ หายใจลำบาก ตื่นยาก หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอกหรือมีท่าทางคล้ายมึนคง ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากหมดสติหรือเป็นลมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สมองของผู้ป่วยได้รับความเสียหายหรืออยู่ในภาวะโคม่าได้