ขี้หูอุดตัน

ความหมาย ขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตัน (Cerumen Impaction/Impacted Earwax) คือ ภาวะที่เกิดจากการสะสมของขี้หูบริเวณหูชั้นนอก เมื่อเวลาผ่านไปจึงทำให้ขี้หูมีลักษณะแห้งและแข็งจนไม่สามารถหลุดร่วงได้เองตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการอุดตันภายในรูหูตามมา

ขี้หูอุดตัน

อาการของขี้หูอุดตัน

เมื่อเกิดการอุดตันของขี้หูจะทำให้มีอาการ ดังนี้

  • ปวดหู   
  • รู้สึกแน่น ๆ หรืออื้อ ๆ ในหูข้างที่เกิดการอุดตัน
  • ได้ยินเสียงดังภายในหู
  • เวียนศีรษะ
  • ไอ
  • การได้ยินลดลง
  • คันบริเวณหูหรือมีของเหลวไหลออกจากหู บางรายอาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์

อาการข้างต้นอาจบ่งบอกถึงการอุดตันของขี้หู แต่ก็อาจเป็นอาการที่เกิดได้จากสาเหตุอื่น ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดการอุดตันของขี้หูหรือไม่ ยกเว้นไปพบแพทย์ให้ช่วยตรวจดูภายในหูหรือบางรายทราบโดยบังเอิญในขณะตรวจร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรแคะขี้หูออกด้วยตนเองโดยที่ยังไม่รู้สาเหตุของอาการแน่ชัด เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อหูมากกว่าเดิม และควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัวได้ อาเจียนหรือมีไข้สูงบ่อย ๆ สูญเสียการได้ยินชั่วคราว ไอ ปวดหูอย่างรุนแรง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในหู

สาเหตุของขี้หูอุดตัน

ขี้หูถูกสร้างขึ้นจากต่อมบริเวณผิวหนังภายในหูชั้นนอก เพื่อช่วยดักจับฝุ่นละออง ขี้ผง หรือสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กไม่ให้เข้าสู่หูด้านใน ปกป้องโครงสร้างสำคัญภายในหู เช่น แก้วหู ไม่ให้ถูกทำลาย และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายภายในหู

โดยทั่วไปขี้หูจะหลุดร่วงเองตามธรรมชาติจากการหลุดลอกตัวของเซลล์ผิวหนังเก่าในรูหู โดยเคลื่อนตัวจากด้านในรูหูสู่หูชั้นนอก เมื่อขี้หูออกมาอยู่ด้านนอกก็จะแห้งและหลุดร่วงไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องมีการแคะออก แต่หากขี้หูถูกผลิตออกมามากหรือระบายออกได้ไม่ดีตามปกติก็อาจทำให้เกิดการอุดตัน ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมักเกิดจากการทำความสะอาดหูด้วยการใช้สำลีพันก้านหรือสิ่งของขนาดเล็กล้วง แคะ หรือเช็ดภายในช่องหู ทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปภายในช่องหูลึกมากขึ้นและมีเพียงบางส่วนที่หลุดติดออกมา

ส่วนสาเหตุอื่นอาจมาจากการใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง ที่อุดหู หรือหูฟังแบบสอดหู (Earphones) เป็นประจำก็อาจไปปิดกั้นไม่ให้ขี้หูหลุดร่วงได้ตามปกติ ช่องหูตีบแคบจากการติดเชื้อหรือโรคทางผิวหนัง กระดูก หรือเนื้อเยื่อ ความสามารถในการผลิตน้ำมันจากต่อมขี้หูลดลงตามอายุจนทำให้ขี้หูแห้งและขจัดออกได้ยาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การสร้างขี้หูออกมาปริมาณมากเพื่อตอบสนองต่อการบาดเจ็บหรือการอุดตันภายในรูหู

การวินิจฉัยขี้หูอุดตัน

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์และความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับหูของผู้ป่วย จากนั้นจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า อุปกรณ์ส่องหู (Otoscope) ส่องเข้าไปภายในช่องหูว่าเกิดการอุดตันหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เช่น เลือดออก การติดเชื้อ เยื่อแก้วหูฉีกขาด หรือเกิดการบาดเจ็บในช่องหู บางรายอาจมีการทดสอบการได้ยินเพิ่มเติม

การรักษาขี้หูอุดตัน

เป้าหมายของการรักษาจะเป็นการขจัดขี้หูที่ตกค้างภายในช่องหูจนยากที่จะเอาออก ซึ่งวิธีในการรักษาจะพิจารณาตามอาการที่พบ อายุของผู้ป่วย ความเสี่ยงเฉพาะบุคคลอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรแคะขี้หูออกด้วยตนเอง แต่ควรให้แพทย์เป็นผู้เอาออกให้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บภายในช่องหูจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอาการที่พบเกิดจากขี้หูอุดตันก็สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

  • ใช้เครื่องมือขนาดเล็กคีบขี้หูที่อุดตันอยู่ภายในหูออก หรือบางรายจะใช้เครื่องดูดขี้หู
  • การล้างช่องหูโดยใช้ไซริงค์ (Syring) ฉีดน้ำอุ่นเข้าในช่องหู โดยอุณหภูมิน้ำจะมีความใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย เพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะ
  • การใช้ยาสำหรับหยอดหูหรือใช้สารอื่น ๆ หยอดหู เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนตัวลงและแคะออกได้ง่าย เช่น น้ำมันมิเนรัล ออย (Mineral Oil) ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) กลีเซอรีน (Glycerine) เบบี้ออยล์ (Baby Oil)

ภาวะแทรกซ้อนของขี้หูอุดตัน

ผู้ป่วยที่ปล่อยให้ขี้หูอุดตันเป็นเวลานานโดยไม่ไปพบแพทย์อาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง เกิดการติดเชื้อ การระคายเคืองของช่องหู สูญเสียการได้ยิน หรือปัญหาเกี่ยวกับหูตามมา นอกจากนี้ การพยายามแคะหูด้วยตนเองในระหว่างที่เกิดการอุดตันของขี้หูอาจเกิดการเสียดสีจนถลอกหรือเป็นแผล ทำให้เกิดเลือดออกและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อภายในหูชั้นกลางหรือหูชั้นนอก บางรายอาจเกิดการบาดเจ็บ เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ และเมื่อรักษาไม่หายขาดก็อาจสูญเสียการได้ยินถาวร    

การป้องกันขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตันสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการใช้สำลีพันก้านหรือสิ่งของแปลกปลอมแคะหู เพราะจะยิ่งดันขี้หูให้เข้าไปภายในหูลึกมากขึ้น ในบางรายที่มีสภาวะบางอย่างทำให้เกิดการอุดตันของขี้หูได้ง่าย เช่น เป็นคนรูหูแคบหรือมีโรคทางผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์ในการขจัดขี้หูออก ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เมื่อพบความผิดปกติใด ๆ และเกิดเป็นประจำควรไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง