ของหวานสุดโปรด กับคุณประโยชน์ที่คาดไม่ถึง

หากจะบอกว่าขนมหวานหน้าตาน่ารับประทานเป็นตัวการที่ทำให้หลายคนอ้วนก็คงไม่ผิดนัก และการรับประทานในปริมาณมากยังอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า หรือโรคหัวใจได้อีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าของหวานมีสารอาหารที่สำคัญหลาย ๆ ชนิดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่มากก็น้อย แล้วควรรับประทานอย่างไรถึงจะช่วยให้มีสุขภาพดีควบคู่ไปด้วย? บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน

ประโยชน์ของขนมหวาน

ผู้ปกครองหลายคนอาจคิดว่าการรับประทานขนมหวานทำให้ลูกน้อยต้องประสบกับปัญหาสุขภาพในอนาคต แต่ของหวานก็มีคุณค่าทางโภชนาการที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน อีกทั้งบางชนิดยังมีไขมันต่ำด้วย เช่น

ของหวาน

มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย

  • ขนมที่ทำจากผลไม้ ทั้งในรูปแบบผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง หรือผลไม้อบแห้ง โดยมีหลายเมนูให้เลือกรับประทานอย่างทาร์ตแอปเปิ้ลหรือพายสัปปะรด ซึ่งมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ใยอาหาร โพแทสเซียม แมงกานีส เป็นต้น ทั้งนี้ ควรระมัดระวังน้ำตาลที่เติมลงไปในผลไม้ประเภทอื่นนอกเหนือจากผลไม้สด เพราะอาจกลับกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายได้   
  • ช็อกโกแลต หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะอาจช่วยในเรื่องสุขภาพหัวใจได้โดยเฉพาะดาร์ค ช็อกโกแลต เนื่องจากสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ในช็อกโกแลตเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสียหายของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจได้ และยังช่วยลดความดันโลหิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหลอดเลือดด้วย  

อุดมไปด้วยแคลเซียมและมีไขมันต่ำ

  • โยเกิร์ตไขมันต่ำ คืออีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากนมที่อุดมไปด้วยแคลเซียม สามารถนำมารับประทานพร้อมกับน้ำผึ้ง หรือจะนำไปปั่นรวมกับผลไม้ต่าง ๆ เพื่อดื่มเป็นสมูทตี้ก็ย่อมได้
  • ของหวานที่มีส่วนผสมของชีสไขมันต่ำ เช่น ฟีต้าชีส มอสซาเรลลาชีส คอตเทจชีส เป็นต้น เป็นแหล่งของแคลเซียมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 
  • นมช็อกโกแลตไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน 1 แก้ว ให้พลังงานเพียง 160 แคลอรี่ และให้แคลเซียมมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งเราสามารถเลือกดื่มได้ตามใจชอบทั้งแบบร้อนหรือแบบเย็น    

สุขภาพดีด้วยการรับประทานอย่างถูกวิธี

แม้ของหวานดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ หากบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา โดยเคล็ดลับดังต่อไปนี้อาจช่วยให้หลายคนเพลิดเพลินกับขนมแสนอร่อยควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดีได้

  • รับประทานช็อกโกแลตในปริมาณน้อย ๆ ในแต่ละมื้อ
  • เลือกใช้นมข้นจืดที่ปราศจากไขมัน ซึ่งเหมาะแก่การประกอบอาหารทั้งของคาวและของหวาน
  • เพิ่มวัตถุดิบที่มีพร้อมด้วยใยอาหารอย่างถั่ว ลูกเกด หรือกราโนล่า
  • อ่านฉลากโภชนาการบนผลไม้กระป๋องและห่อขนมหวาน และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปอย่างน้ำตาลทราย น้ำตาลข้าวโพดหรือน้ำตาลฟรุคโตสในปริมาณต่ำ   
  • หันมาดื่มชาสมุนไพรที่ปราศจากคาเฟอีนแทนกาแฟใส่นมหรือครีมเทียม โดยชาเปปเปอร์มินต์หรือน้ำขิงอาจช่วยให้ดื่มด่ำกับของหวานตรงหน้า ช่วยในการย่อยอาหาร แถมยังทำให้หลับสบายอีกด้วย      

อย่างไรก็ตาม สุขภาพดีของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เนื่องจากบางรายอาจต้องระวังในเรื่องของกลูเตนหรือโปรตีน บางคนอาจกังวลเกี่ยวกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละมื้อ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกรับประทานของหวานที่เหมาะสมกับตนเองภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักโภชนาการ รวมถึงหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ห่างไกลจากอาการเจ็บป่วยและโรคภัยต่าง ๆ