ผลไม้กระป๋อง เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์ครบถ้วน

เห็นได้ว่าในปัจจุบันผลไม้กระป๋องนั้นมีจำหน่ายทั่วไป หลายคนจึงซื้อติดบ้านไว้บ้าง เนื่องจากรับประทานได้ง่าย เก็บรักษาได้นาน ทว่าอาจยังไม่รู้ถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงข้อควรระวังก่อนการเลือกซื้อหรือบริโภคผลไม้กระป๋อง บทความนี้จึงได้รวบรวมประโยชน์และข้อมูลที่ควรรู้มาฝากกัน

ปกติแล้วผลไม้กระป๋องเป็นวิธีการเก็บรักษาหรือถนอมผลไม้ด้วยการบรรจุลงในภาชนะที่ปิดสนิท ปราศจากอากาศผ่านเข้าออก และนำไปผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผลไม้กระป๋องนั้นสามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้นานขึ้นโดยไม่เน่าเสีย และปลอดภัยต่อการรับประทานเป็นปีหลังจากวันผลิต

Portion,Of,Fresh,Pickled,Apricots,(close-up,Shot;,Selective,Focus)

ผลไม้กระป๋องดีต่อสุขภาพหรือไม่?

แม้หลายคนจะคิดว่าผลไม้กระป๋องนั้นไม่มีสารอาหารหรือวิตามินเหมือนผลไม้สด แต่บางงานวิจัยบอกว่า ผลไม้ที่ผ่านกระบวนการบรรจุกระป๋องยังรักษาสารอาหารส่วนใหญ่ไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ วิตามินที่ละลายในไขมันอย่างวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค ทั้งนี้ การผ่านความร้อนที่อุณหภูมิสูงอาจทำให้ผลไม้กระป๋องสูญเสียวิตามินที่ละลายในน้ำได้ไปบ้าง เช่น วิตามินซีและวิตามินบี เนื่องจากวิตามินดังกล่าวไวต่อความร้อนและอากาศนั่นเอง

ดังนั้นผลไม้กระป๋องจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันง่ายขึ้น ซึ่งแต่ละกระป๋องก็ได้รวบรวมความสะดวกในการรับประทาน การพกพาง่าย และการเก็บรักษาไว้ได้นานให้กับผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว 

ข้อควรระวังในการเลือกซื้อผลไม้กระป๋อง

เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและได้ประโยชน์จากผลไม้กระป๋องที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญกับข้อควรระวังดังต่อไปนี้

เกลือ น้ำตาล และสารกันบูด

ในกระบวนการผลิตผลไม้กระป๋องนั้นมีไม่น้อยที่เติมเกลือ น้ำตาล หรือสารกันบูดเพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อให้ได้รสชาติหรือรสสัมผัสที่ถูกปากผู้บริโภค รวมถึงป้องกันการเน่าเสีย ซึ่งสารเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางประการ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวให้มีอาการแย่ลง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น ดังนั้น ก่อนจะซื้อผลไม้กระป๋องชนิดใดควรอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อนเสมอ โดยเลือกที่มีปริมาณเกลือ น้ำตาล หรือสารกันบูดต่ำหรือไม่มีเลยจะยิ่งดีต่อสุขภาพ และควรรินน้ำในกระป๋องออกเมื่อรับประทานเพื่อลดปริมาณเกลือหรือน้ำตาลที่อาจผสมอยู่

สาร BPA (Bisphenol-A)

โดยทั่วไปแล้วสาร BPA เป็นสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตภาชนะใส่อาหารหรือเครื่องดื่มรวมถึงกระป๋อง โดยใช้เคลือบด้านในของกระป๋องเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการกัดกร่อน จึงอาจมีการปนเปื้อนสาร BPA ในอาหารหรือผลไม้บรรจุกระป๋องได้ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกายจริงหรือไม่ แต่ก็มีบางงานวิจัยระบุไว้ว่า การบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนสาร BPA อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน รวมถึงภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย 

แบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum)

หลายคนไม่ทราบว่า กระบวนการผลิตผลไม้กระป๋องที่มีมาตรฐานต่ำนั้นอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคเรียคลอสติเดียมโบทูลินัมอันเป็นต้นเหตุของโรคโบทูลิซึม (ฺBotulism) ได้ โดยทำให้ผู้บริโภคมีปัญหาในการกลืนหรือพูดคุย ขยับไม่ได้ มองเห็นเป็นภาพเบลอ หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดเกร็งหน้าท้อง อัมพาต หรือเสียชีวิตได้หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา แต่การปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้มักพบได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตามผลไม้กระป๋องแต่ละชนิดและแต่ละยี่ห้อนั้นมีคุณภาพที่แตกต่างกัน การอ่านฉลากและส่วนผสมที่ระบุอยู่ข้างกระป๋องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือการแพ้อาหารบางชนิด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเก็บรักษาผลไม้กระป๋องได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้หากผลไม้กระป๋องเกิดสนิม บวม มีรอยบุบ หรือพบสนิมอยู่ภายในกระป๋องหลังเปิดฝาแล้วก็ไม่ควรซื้อหรือรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ในกรณีที่เกิดความผิดปกติใด ๆ หลังรับประทานผลไม้กระป๋องควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว