ก้มแล้วปวดหัว รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือที่ถูกต้อง

ก้มแล้วปวดหัว หรืออาการปวดหัวที่เกิดขึ้นหลังจากโน้มศีรษะไปข้างหน้าหรือเมื่อเงยหน้า เป็นอาการอาจทำให้หลายคนกังวลใจว่าภายในร่างกายของตนเองกำลังมีอะไรผิดปกติอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในผู้ที่อาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ การเรียนรู้ถึงสาเหตุที่อาจเป็นไปได้และวิธีรับมือเอาไว้จึงน่าจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่มีอาการจัดการตัวเองได้ดีขึ้น

อาการก้มแล้วปวดหัวเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การขาดน้ำของร่างกาย ภาวะไซนัสอักเสบ ไปจนถึงการเกิดเนื้องอกในสมอง ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีความรุนแรงและอาการแสดงร่วมที่แตกต่างกันไป โดยบางคนอาจดีขึ้นได้เองจากการดูแลตัวเอง ในขณะที่บางคนอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ

ก้มแล้วปวดหัว

สาเหตุของอาการก้มแล้วปวดหัว

ก้มแล้วปวดหัวเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. ไซนัสอักเสบ

ไซนัสคือโพรงอากาศที่อยู่บริเวณใบหน้า ซึ่งตำแหน่งที่สามารถพบได้ก็ได้แก่ บริเวณหน้าผาก ระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง ด้านข้างจมูกทั้งสองข้าง และชั้นลึกในกะโหลก โดยหน้าที่ของไซนัสก็จะมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่น สร้างเยื่อเมือกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้บริเวณจมูก และคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ

ภาวะไซนัสอักเสบจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุบริเวณไซนัสเกิดการอักเสบและบวมจากการติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ

ผู้ที่มีอาการปวดหัวจากไซนัสอักเสบมักจะรู้สึกปวดบริเวณด้านหลังดวงตา โหนกแก้ม หน้าผาก หรือบริเวณจมูก ซึ่งอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อก้มหน้าลงหรือเมื่อหันหน้าไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างฉับพลัน 

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ของภาวะไซนัสอักเสบที่มักเกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดหัวก็เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกมีลักษณะข้นจับตัวกันหนา น้ำตาไหลมาก อ่อนเพลียผิดปกติ ไอ และเจ็บคอ

2. ไมเกรน

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวชนิดหนึ่งที่ผู้ที่ป่วยจะรู้สักปวดหัวอย่างรุนแรงในลักษณะปวดแบบตุบ ๆ โดยอาการปวดหัวอาจจะเกิดขึ้นเพียงข้างใด ๆ ข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งอาการจะยิ่งมีความรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับตัวกระตุ้นบางอย่าง เช่น การก้มหน้า การออกแรงมาก ๆ เสียงดังมาก ๆ กลิ่นเหม็นบางอย่าง และแสงที่สว่างจ้า

นอกจากอาการปวดหัวแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะยังมักพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อเสียงอย่างรุนแรง และไวต่อแสงอย่างรุนแรง ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นนานตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้บางคนยังอาจพบอาการบางอย่างในลักษณะคล้ายกับสัญญาณเตือนก่อนจะเกิดอาการปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนมีอาการปวดหัวประมาณ 5–60 นาที หรือบางคนก็อาจเกิดพร้อมไปกับอาการปวดหัว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น และได้ยินเสียงดังในหู

3. อาการไอ

ในบางครั้งอาการก้มแล้วปวดหัวก็อาจเกิดขึ้นได้จากอาการไอ การจาม หรือการหัวเราะได้ เนื่องจากในขณะที่เกิดอาการเหล่านี้ ภายในศีรษะจะเกิดแรงดันที่เพิ่มขึ้นมาและนำไปสู่อาการปวดหัวได้ แต่อาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเพียงไม่กี่นาที หรืออาจเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และอาการปวดหัวจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่าอาการปวดหัวมักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองข้าง แต่อาจจะปวดมากบริเวณด้านหลังของศีรษะ

ทั้งนี้ แม้โดยส่วนใหญ่อาการปวดหัวของผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมักดีขึ้นได้เอง แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาการปวดหัวนี้เป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติบางอย่างที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ โรคสมองน้อยย้อย และเนื้องอกในสมอง

4. ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการดื่มน้ำไม่เพียงพอ และการสูญเสียน้ำในปริมาณมาก เช่น การอาเจียน การท้องเสีย โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่า อาการปวดหัวจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากที่ดื่มน้ำให้มากขึ้นและพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ

อาการปวดหัวของผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยก้มหน้าลง เดิน หรือขณะหัวหน้าไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง รวมถึงมักเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เวียนหัว อ่อนเพลีย ปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะน้อยลง กระหายน้ำผิดปกติ และปากแห้ง

นอกจากนี้ ภาวะขาดน้ำยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไมเกรน หรืออาจกระตุ้นให้ผู้ที่ป่วยเป็นไมเกรนอยู่แล้วมีอาการที่แย่ลงได้อีกด้วย

5. น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่ว

โดยปกติแล้ว บริเวณสมองและไขสันหลังจะมีของเหลว (Cerebrospinal Fluid) หุ้มอยู่ เพื่อช่วยป้องกันสมองและไขสันหลังจากการถูกกระทบกระเทือนหรือแรงกระแทกต่าง ๆ 

ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วจะเกิดขึ้นเมื่อของเหลวนี้ไหลออกมาจากบริเวณที่หุ้มสมองและไขสันหลังอยู่ ซึ่งสาเหตุที่มักพบได้ก็คือ การเกิดอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ หรือกระดูกสันหลัง หรือในบางคนก็อาจเกิดจากกระบวนการรักษาบางชนิด เช่น การผ่าตัดบริเวณสมอง หรือการรักษาบางชนิดบริเวณหู จมูก และลำคอ

อาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่น้ำหุ้มสมองและไขสันหลังรั่วไหลออกมา แต่อาการหลัก ๆ ที่มักพบก็คือ ผู้ป่วยจะพบของเหลวใสไหลออกมาจากจมูก ทั้งนี้ ของเหลวนี้จะแตกต่างกับน้ำมูกตรงที่ ของเหลวนี้จะไม่จับตัวแข็งเป็นคราบบนทิชชู่เหมือนกับน้ำมูก

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น อาการปวดหัว ได้ยินดังในหู จมูกไม่ได้กลิ่น มองเห็นภาพซ้อน ปวดคอ เบื่ออาหาร ดวงตาไวต่อแสง คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว

6. เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมองคือก้อนเนื้อบริเวณสมองที่เจริญเติบโตผิดปกติมาจากเซลล์บริเวณสมอง โดยก้อนเนื้อนี้อาจเป็นได้ทั้งก้อนเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และก้อนเนื้อมะเร็ง

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะพบว่าอาการก้มแล้วปวดหัวจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นระยะเวลานาน และมักจะมีความรุนแรงผิดปกติในช่วงเช้าของวัน รวมถึงมักพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น ชัก พูดลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น รู้สึกชาบริเวณใบหน้า มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว และบุคลิกภาพเปลี่ยนไป

วิธีรับมือกับอาการก้มแล้วปวดหัว

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการก้มแล้วปวดหัวอาจจะลองนำวิธีดูแลตัวเองดังต่อไปนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ได้แก่

  • พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือวันละประมาณ 6–8 แก้ว
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรืออย่างน้อยประมาณ 7 ชั่วโมง
  • ควบคุมความเครียด เช่น อาจจะเลือกเล่นกีฬาหรือทำงานอดิเรกที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลาย
  • กำจัดเวลาการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์
  • หากกำลังป่วยเป็นโรคใด ๆ อยู่ ให้ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ผู้ป่วยไมเกรนก็ควรหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง อย่างการอยู่ในที่เสียงดัง หรือมีแสงจ้ามาก ๆ
  • รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ แต่ก่อนใช้ควรอ่านฉลากยาให้ดี และปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาและความปลอดภัยต่อร่างกาย

ทั้งนี้ วิเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากอาการก้มแล้วปวดหัวยังไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือกลับมาเกิดซ้ำ ๆ ผู้ที่มีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการก้มแล้วปวดหัวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที หากเห็นว่าตนเองมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติรุนแรงในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรงhttps://www.pobpad.com/กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความคิด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์โดยไม่ทราบสาเหตุ