กำจัดไฝด้วยขั้นตอนทางการแพทย์ ทำอย่างไร เป็นอันตรายไหม

การกำจัดไฝด้วยขั้นตอนทางการแพทย์เป็นวิธีที่ปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ ได้ผลดี และอาจช่วยแก้ปัญหาเรื่องความมั่นใจในผู้ที่มีไฝ อีกทั้งขั้นตอนในการกำจัดไฝที่ทำโดยแพทย์ ไม่เพียงได้ผลและปลอดภัย แต่ยังใช้เพื่อตรวจหาโรคผิวหนังที่อาจเป็นอันตราย อย่างมะเร็งผิวหนังได้ด้วย

หลายคนอาจเลือกที่จะกำจัดไฝด้วยตนเอง อย่างการใช้ครีมหรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการกำจัดไฝ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อผลข้างเคียง อย่างการติดเชื้อ แผลเป็น และปัญหาผิวหนังอื่น ๆ ได้ ดังนั้น หากรู้สึกว่าไฝที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความมั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการกำจัดไฝอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ไฝเป็นปัญหาผิวที่พบได้ในทุกคน มีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อผิวหนังและมีการผลิตเม็ดสีที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดจุดหรือตุ่มนูนสีเข้มตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ โดยสามารถพบได้หลากหลายขนาด หากจุดสีเข้มนั้นเกิดในลักษณะเรียบไปกับผิว คนไทยอาจจะเรียกว่าขี้แมลงวัน นอกจากนี้ ไฝที่เกิดบริเวณนอกร่มผ้า เช่น ใบหน้า คอ และแขน อาจทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายจนอาจทำให้หลายคนเกิดปัญหาความไม่มั่นใจขึ้นได้

กำจัดไฝด้วยขั้นตอนทางการแพทย์ ทำอย่างไร เป็นอันตรายไหม

ขั้นตอนการกำจัดไฝด้วยวิธีทางการแพทย์

การกำจัดไฝด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องพักฟื้น และมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายหากดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่กำลังใช้ โดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Blood Thinner) และเคยมีประวัติการแพ้ยาชา 

แพทย์อาจตรวจดูลักษณะของไฝก่อนเพื่อวางแผนในการรักษา เมื่อเริ่มการรักษาจะมีการฉีดยาชาบริเวณผิวหนังที่เกิดไฝและบริเวณโดยรอบ และใช้เครื่องมือทางการแพทย์กำจัดไฝ ส่วนใหญ่จะพบได้ 2 แบบ ดังนี้

1. การเฉือน (Shave Excision)

ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายมีดโกนค่อย ๆ เฉือนผิวหนังที่มีไฝและผิวหนังรอบฐานของไฝออกโดยเป็นการผ่าตัดแบบตื้น ๆ จากนั้นแพทย์อาจใช้เครื่องมือจี้ไฝด้วยคลื่นไฟฟ้า (Electrosurgical) จี้บริเวณขอบไฝเพื่อตกแต่งขอบแผล

2. การผ่าตัด (Surgical Excision)

วิธีนี้เป็นการกำจัดไฝแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะผ่าตัดไฝออกด้วยการผ่าลึกลงไปในชั้นไขมันใต้ผิว จากนั้นจะเย็บปิดแผลผ่าตัด

หลังจากไฝถูกกำจัดออก แพทย์จะส่งเนื้อเยื่อของไฝไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เนื่องจากบางครั้งไฝอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งแผลจากการกำจัดไฝด้วยขั้นตอนเหล่านี้อาจใช้เวลาฟื้นฟูประมาณ 2‒3 สัปดาห์

กำจัดไฝด้วยขั้นตอนทางการแพทย์เกิดแผลเป็นได้หรือไม่ 

บาดแผลทุกชนิดสามารถทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ เพราะแผลเป็นเป็นผลมาจากกระบวนการฟื้นฟูของร่างกายเพื่อสมานบาดแผล

รอยแผลเป็นมีทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ซึ่งการกำจัดไฝจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจะช่วยลดการเกิดแผลเป็นถาวร และหากดูแลตนเองอย่างเหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดรอยแผลเป็นได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการกำจัดไฝ บางคนอาจเกิดแผลเป็นถาวร อย่างแผลเป็นนูน และแผลเป็นชนิดคีลอยด์ (Keloid) ที่มีขนาดใหญ่กว่าแผลเป็นนูน แม้จะเรียกว่าแผลเป็นถาวร แต่มีขั้นตอนทางการแพทย์ที่อาจช่วยรักษาแผลเป็นเหล่านี้ให้ยุบและจางลงได้

สาเหตุของแผลเป็นหลังการกำจัดไฝเกิดได้จากหลายปัจจัย อย่างการดูแลรักษาแผลหรือความสะอาด ด้วยเหตุนี้ ภายหลังการการกำจัดไฝ จึงควรรักษาความสะอาดของแผล เปลี่ยนผ้าพันแผลตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการจับ เกา ถู หรือเสียดสีกับแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดในช่วงที่แผลกำลังฟื้นฟู

หลังกำจัดไฝ ไฝกลับมาเกิดซ้ำได้หรือไม่

โดยปกติแล้ว หลังการกำจัดไฝอย่างถูกวิธี ไฝจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่หากพบว่ากลับมาเป็นซ้ำ ขนาดของไฝใหญ่ขึ้น หรือลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนัง

นอกจากนี้หากแผลจากการกำจัดไฝไม่สมานกัน ไม่ดีขึ้น เป็นแผลพุพอง เป็นหนอง เลือดออก หรือแผลบวม ควรไปพบแพทย์ หรือหากใครที่มีไฝ แล้วไฝมีเลือดออก มีของเหลวไหลออกมา คันบริเวณไฝ หรือมีอาการกดเจ็บบริเวณผิวหนังส่วนนั้น ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ไม่ควรกำจัดไฝด้วยตนเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อและรอยแผลเป็นถาวรที่อาจสร้างปัญหามากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งแพทย์จะช่วยประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม พร้อมกับแนะนำวิธีการดูแลอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงของผลภาวะแทรกซ้อน