กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis)

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มหรือที่เรียกว่าโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune disorder) ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณตา ทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาอ่อนแรง เกิดอาการหนังตาตก และมองเห็นภาพซ้อนตามมา

อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยทั่วไป และอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในบริเวณอื่น ๆ ตามมา เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการกลืน กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อแขนและขา ไปจนถึงกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจ ซึ่งอาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาวิธีควบคุมหรือดูแลอาการอย่างเหมาะสม

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

สาเหตุของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเอง ส่งผลให้แอนติบอดีทำลายการสื่อสารระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมา

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกตินั้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงในการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จนทำเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือทำให้ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้ เช่น 

  • การเพิ่มขึ้นของอายุ โดยเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และเพศชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น
  • การเคยมีประวัติเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
  • การทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์
  • การใช้ยารักษาโรคมาลาเรีย หรือยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การเข้ารับการผ่าตัดบางอย่าง
  • การติดเชื้อภายในร่างกาย

นอกจากนี้ การผลิตแอนติบอดีบางประเภทในระบบภูมิคุ้มกัน การถ่ายทอดแอนติบอดีจากพ่อแม่ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายแรงสู่เด็กทารกในครรภ์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแต่กำเนิด ก็สามารถส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน

อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมักจะปรากฎอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้อบริเวณรอบเบ้าตาอ่อนแรง ส่งผลให้เกิดอาการหนังตาตก 
  • ดวงตาทั้งสองข้างมีลักษณะไม่เท่ากัน หรือแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน 
  • เกิดอาการตาล้าหรือเมื่อยล้าบริเวณดวงตา โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อใช้กล้ามเนื้อดวงตามาก
  • อาจส่งผลต่อการแสดงออกของสีหน้า เช่น ดวงตาดูไม่เป็นธรรมชาติในขณะที่ยิ้มหรือพูดคุย
  • ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบดวงตาได้ตามปกติ เช่น การกะพริบตา การลืมตา หรือการหลับตา

อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่ควรไปพบแพทย์

หากอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงพัฒนาไปเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจ (Myasthenic Crisis) และส่งผลให้เกิดอาการหายใจลำบาก ภาวะหายใจล้มเหลว ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิต จึงควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

การวินิจฉัยกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย สอบถามอาการที่เกิดขึ้น และทำการตรวจเพิ่มเติมบางประการ เพื่อให้สามารถแยกแยะสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้อย่างชัดเจน เพราะภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ

ตัวอย่างการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อหาแอนติบอดีที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอักเสบ
  • การตรวจทางประสาทสรีรวิทยา เช่น การตรวจการหดตัวของกล้ามเนื้อ หรือการตรวจการขยายตัวของรูม่านตา
  • การตรวจการนำกระแสประสาทและการตอบสนองของกล้ามเนื้อ (Electromyogram)
  • การตรวจ MRI หรือซีทีสแกน (CT Scan) เพื่อหาความผิดปกติของต่อมไทมัส เช่น เนื้องอก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติได้

การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงให้หายขาด แต่ก็มีวิธีที่จะสามารถช่วยดูแล บรรเทา หรือควบคุมอาการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุด

ตัวอย่างการรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง มีดังนี้

การดูแลอาการด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเองหลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงการใช้สายตามากเกินไป เช่น การจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ งีบหรือพักสายตาระหว่างวัน และประคบเย็นบริเวณดวงตา ใบหน้า และหน้าผาก หากรู้สึกว่าอากาศร้อนมากเกินไป 

อีกทั้ง ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อภายในร่างกายแข็งแรง และอาจช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงด้วยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ลดการทำลายสารสื่อประสาท เช่น ยาลดอาการหย่อนของกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น แต่จะใช้ในกรณีที่ยาตัวอื่น ๆ ไม่ได้ผลเท่านั้น

การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา

แพทย์อาจอาจรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงด้วยการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasmapheresis) โดยการนำนำแอนติบอดีชนิดที่ผิดปกติออกจากเลือด และนำแอนติบอดีชนิดที่ปกติซึ่งได้จากการบริจาคมาเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่เลือดแทน นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการฉีดอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อช่วยเพิ่มแอนติบอดีชนิดที่ปกติภายในเลือดที่ได้รับการบริจาคมาด้วย

การผ่าตัด

แพทย์อาจอาจรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงด้วยการผ่าตัดเนื้องอกบริเวณต่อมไทมัสออก หากพบว่าการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทมัสส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และเป็นสาเหตุของการให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงขึ้น 

ภาวะแทรกซ้อนของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เพราะอาจให้ทางเดินหายใจอุดตัน เกิดการขัดขวางการหายใจ และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยในการหายใจเลยทีเดียว

การป้องกันกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาจป้องได้ยาก เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดดอาการที่แน่ชัด แต่ก็มีวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วย เพื่อช่วยไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนี้

  • รับประทานยารักษาโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
  • รับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อน เพราะอาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดอาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้

หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่เหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้