Wilms Tumor (มะเร็งไตในเด็ก)

ความหมาย Wilms Tumor (มะเร็งไตในเด็ก)

Wilms Tumor / Nephroblastoma หรือมะเร็งไตในเด็ก เกิดขึ้นจากเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติในไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือไตทั้งสองข้างในผู้ป่วยเด็กบางราย ส่งผลให้ท้องบวม ปวดท้อง หรือคลำท้องแล้วเจอก้อน โดย Wilms Tumor เป็นมะเร็งไตชนิดที่มักพบมากในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 3–4 ปี แต่จะพบได้น้อยลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น

แม้มะเร็งไตในเด็กชนิดนี้จะพบได้น้อยมากและยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยและรักษา Wilms Tumor ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสหายดีและกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้สูง

Wilms Tumor

อาการของ Wilms Tumor

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วย Wilms Tumor จะไม่มีอาการใด ๆ แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตพบว่าท้องของเด็กขยายใหญ่ขึ้นหรือคลำเจอก้อนที่ท้องโดยบังเอิญ ซึ่งก้อนดังกล่าวมักไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นแม้จะมีขนาดใหญ่มากขึ้นก็ตาม ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปัสสาวะปนเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ไม่อยากอาหาร หายใจไม่อิ่ม และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติบริเวณท้องของบุตรหลานหรือความผิดปกติในส่วนอื่น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่ามะเร็งชนิดนี้จะพบได้น้อยมากแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และอาการที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ควรได้รับการดูแลและการรักษาที่เหมาะสม     

สาเหตุของ Wilms Tumor

สาเหตุของ Wilms Tumor ยังไม่ทราบแน่ชัด ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติและแบ่งตัวแบบควบคุมไม่ได้จนเกิดเนื้องอก อีกทั้งยังมีปัจจัยบางประการที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้มากขึ้นด้วย ได้แก่

  • คนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งไตชนิดนี้มาก่อน
  • เด็กเพศหญิงมีโอกาสเกิด Wilms Tumor มากกว่าเด็กเพศชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 34 ปี แต่จะเสี่ยงน้อยลงเมื่อเด็กโตขึ้น และพบได้น้อยมากเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ 
  • มีความผิดปกติบางอย่างมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะไม่มีม่านตา (Aniridia) หรือลำตัวซีกใดซีกหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Hemihypertrophy) เป็นต้น
  • มีปัญหาสุขภาพที่พบได้ยากมาก เช่น WAGR Syndrome ที่ทำให้เกิดความผิดปกติในม่านตา ไตระบบสืบพันธุ์ ระบบปัสสาวะ และความบกพร่องทางสติปัญญา Denys–Drash Syndrome ที่ส่งผลให้อวัยวะเพศชายมีความผิดปกติ หรือ Beckwith–Wiedermann Syndrome ที่ทำให้ตัวโตกว่าปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัย Wilms Tumor

เบื้องต้น แพทย์จะซักถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว และตรวจร่างกายบริเวณท้องของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค เช่น 

การตรวจเลือดและปัสสาวะ

วิธีนี้ไม่สามารถตรวจพบเนื้องอกได้โดยตรง แต่จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การทำงานของไต ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในไต รวมถึงจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในร่างกายด้วย 

การตรวจจากภาพถ่าย

การตรวจจากภาพถ่ายจะช่วยให้แพทย์เห็นโครงสร้างของอวัยวะในร่างกาย ตรวจหาตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็งในไต ระยะของมะเร็ง หรือความผิดปกติใด ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI Scan) การเอกซเรย์ทรวงอก การสแกนกระดูก เป็นต้น

การตัดชิ้นเนื้อ

แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อขนาดเล็กไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมก่อนการผ่าตัดหรือในระหว่างการผ่าตัด เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง ระบุชนิดของมะเร็ง หรือพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยอาจเป็นการผ่าตัดอย่างเดียว การผ่าตัดร่วมกับการทำเคมีบำบัดหรือการฉายแสง 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงในการเกิด Wilms Tumor แพทย์จะแนะนำให้ตรวจร่างกายและอัลตราซาวด์เป็นประจำทุก 3–4 เดือนจนกว่าจะอายุ 8 ปี เพื่อให้ตรวจพบมะเร็งได้เร็วตั้งแต่เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะโดยรอบ ซึ่งจะง่ายต่อการรักษามากกว่า

หลังจากยืนยันผลการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะประเมินความรุนแรงและการแพร่กระจายของมะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับการรักษาตามขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุด โดยระยะของ Wilms Tumor ในเด็กจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้ 

  • ระยะที่ 1 : พบมะเร็งในไตเพียงข้างใดข้างหนึ่ง และสามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งทั้งหมดออกมาได้
  • ระยะที่ 2 : มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและโครงสร้างที่อยู่นอกไต แต่ยังสามารถผ่าตัดออกมาได้ 
  • ระยะที่ 3 : ผ่าตัดมะเร็งออกแล้วแต่ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ภายในท้อง
  • ระยะที่ 4 : มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปอด ตับ กระดูก หรือสมอง เป็นต้น 
  • ระยะที่ 5 : พบก้อนมะเร็งในไตทั้งสองข้าง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่ต่างกันไปในแต่ละราย

การรักษา Wilms Tumor

การรักษา Wilms Tumor  มีหลายวิธีด้วยกัน โดยอาจเป็นการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา แต่ส่วนมากจะใช้วิธีเหล่านี้ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับระยะของ Wilms Tumor ในผู้ป่วยเด็กแต่ละคน โดยจะมีรายละเอียดดังนี้

การผ่าตัด

แพทย์อาจผ่าตัดเฉพาะบริเวณที่มีก้อนเนื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบบางส่วนในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก หากมะเร็งมีความรุนแรง แพทย์อาจผ่าตัดเนื้อไตออกทั้งหมดร่วมกับเนื้อเยื่อของอวัยวะใกล้เคียง อย่างท่อไต ต่อมหมวกไต หรือต่อมน้ำเหลือง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นในไตทั้งสองข้าง แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปให้มากที่สุด ในบางรายจึงต้องผ่าไตออกทั้งสองข้างและจำเป็นต้อฟอกไตหรือเข้ารับการปลูกถ่ายไตในภายหลัง 

การใช้ยาเคมีบำบัด

เป็นการใช้ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกันเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย แพทย์อาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งฝ่อลงและผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ภายในร่างกาย ทั้งนี้ หากมะเร็งมีความรุนแรงมากก็อาจต้องใช้ยาในปริมาณมากเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายดี หากมะเร็งรุนแรงเพียงเล็กน้อย แพทย์จะพิจารณายาในปริมาณต่ำเพื่อลดผลข้างเคียงของการใช้ยาในระยะยาว 

การฉายรังสีรักษา

รังสีรักษาเป็นการใช้พลังงานสูงกำจัดเซลล์มะเร็งจากระยะไกล โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนนิ่ง ๆ บนเตียงที่มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยจัดตำแหน่งท่าทางให้เหมาะสม จากนั้นจะใช้เครื่องฉายรังสีไปยังจุดที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ การรักษา Wilms Tumor ด้วยวิธีนี้อาจนำมาใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้มะเร็งฝ่อตัวจนง่ายต่อการผ่าตัด และใช้หลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ในร่างกาย หรือควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น 

ทั้งนี้ การใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ในระยะสั้นอาจทำให้ผมร่วง มีแผลในปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้และอาเจียน ส่วนในระยะยาว ยาบางตัวอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งชนิดอื่น หรือส่งผลต่อการมีบุตรในอนาคต 

เนื่องจาก Wilms Tumor เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ยาก ผู้ป่วยจึงอาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์เฉพาะทางหลายทีม ทั้งกุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง เพื่อให้การรักษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของ Wilms Tumor

Wilms Tumor อาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปยังปอด ต่อมน้ำเหลือง ตับ กระดูก สมอง หรืออวัยวะส่วนอื่น จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายวิธีรวมกันจนอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการรักษาตามมา อีกทั้งการใช้ยาเคมีบำบัดแต่ละตัวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย โลหิตจาง ไม่อยากอาหาร น้ำหนักตัวลดลง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ แผลในปาก รอยช้ำ มีปัญหาในการนอนหลับ ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ ผิวหนังหรือเล็บเปลี่ยนสี เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ การรักษา Wilms Tumor บางวิธียังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีความดันโลหิตสูง ไตถูกทำลาย ภาวะหัวใจวาย เกิดมะเร็งชนิดอื่นในอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย และไตทำงานบกพร่องในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกในไตทั้งสองข้าง 

การป้องกัน Wilms Tumor

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด Wilms Tumor จึงยังไม่มีวิธีป้องกันโรคโดยตรง แต่หากบุตรหลานมีความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์หาความผิดปกติของไตเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยให้พบโรคตั้งแต่ระยะแรก ๆ และมีโอกาสรักษาให้หายดีได้สูง 

ในกรณีที่เด็กป่วยเป็น Denys-Drash Syndrome อยู่ก่อน แพทย์อาจให้ผ่าตัดไตออกแล้วค่อยปลูกถ่ายไตภายหลัง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเนื้องอก ทั้งนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็น Wilms Tumor ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนตัดสินใจมีบุตรได้