Trazodone (ทราโซโดน)

Trazodone (ทราโซโดน)

Trazodone (ทราโซโดน) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้า ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นการทำงานของสารเซราโทนิน (Seratonin) เป็นสารที่ใช้สื่อสารระหว่างเซลล์ในระบบประสาท หากร่างกายผลิตออกมาน้อยเกินไปจะทำให้มีอาการซึมเศร้า การใช้ยาในกลุ่มต้านเศร้าอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น ความคิดหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรปรึกษาแพทย์และใช้ยาอย่างระมัดระวัง

Trazodone

เกี่ยวกับ Trazodone

กลุ่มยา ยาคลายเครียดหรือยารักษาอาการซึมเศร้า
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาอาการซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด

คำเตือนในการใช้ยา Trazodone

  • ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำก่อนรับประทานยา และอาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา จึงห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ เช่น บิวส์ไปโรน (Buspirone) เฟนทานิล (Fentanyl) ลิเทียม (Lithium) ทริปโตเฟน (Tryptophan) สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort) รวมถึงยาบรรเทาอาการปวดหรือยารักษาไมเกรน เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) ได้
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด รวมถึงแอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน เซเลโคซิบ ไดโคลฟีแนค อินโดเมธาซิน หรือมีลอกซิแคม เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดรอยฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย
  • ควรหยุดใช้ยา Trazodone อย่างน้อย 14 วันก่อนเริ่มต้นใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors: MAOI) รวมถึงเมทิลีน บลู (Methylene Blue) ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ลีเนโซลิด (Linezolid) ฟีเนลซีน (Phenelzine) เซเลกิลีน (Selegiline) และทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine) เป็นต้น เพราะอาจส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นฉับพลัน ความดันโลหิตสูง มีอาการชัก หรือมีอาการที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และไม่ควรใช้ยาในเด็กเล็ก
  • ในช่วงแรกของการใช้ยา ผู้ป่วยบางคนอาจมีความคิดหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที และควรไปติดตามผลตามที่แพทย์นัดหมาย และรายงานการเปลี่ยนแปลงให้แพทย์ทราบ หากมีอาการใหม่เกิดขึ้น หรือมีอาการแย่ลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด หดหู่ วิตกกังวล ตื่นเต้น ตื่นตระหนก นอนไม่หลับ ก้าวร้าว กระสับกระส่าย เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว เช่น เปลี่ยนจากท่านอนหรือท่านั่งเป็นท่ายืน เพราะอาจทำให้วิงเวียนศีรษะหรือล้มลงได้
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องมีสติตลอดเวลา เพราะยาอาจส่งผลต่อความคิดและการกระทำได้
  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
    • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา Trazodone
    • ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือมีปัญหาของลิ่มเลือด
    • ผู้ที่มีอาการชักหรือผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู
    • ผู้ป่วยโรคต้อหิน
    • ผู้ป่วยกลุ่มอาการคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Long QT Syndrome
    • ผู้ที่มีภาวะโซเดียม โพแทสเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
    • ผู้ที่มีภาวะองคชาติแข็งค้าง
    • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
    • ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ 
    • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรม
    • ผู้ที่เคยคิดจะฆ่าตัวตายหรือผู้ที่เคยใช้สารเสพติด
    • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการยืนยันว่ายาจะถูกขับออกผ่านทางนมแม่หรือเป็นอันตรายต่อทารกได้
    • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีการตั้งครรภ์ในระหว่างใช้ยา เพราะการใช้ยาอาจส่งผลให้ตับมีปัญหาหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนกับทารก ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มหรือหยุดใช้ยาในขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้

ปริมาณการใช้ยา Trazodone

ยา Trazodone มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอายุหรืออาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยาและรายละเอียดดังนี้

  • โรคซึมเศร้า
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 150 มิลลิกรัมต่อวัน หากมีความจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดยาได้ ครั้งละ 50 มิลลิกรัมทุก ๆ 3-4 วัน สูงสุดไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน และในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสามารถเพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ผู้สูงอายุ เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
    • เด็ก ข้อมูลการใช้ยาในเด็กมีจำกัด ควรใช้ปริมาณยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • โรควิตกกังวล 
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 75 มิลลิกรัมต่อวัน หากมีความจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดยาได้ สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
    • เด็ก ข้อมูลการใช้ยาในเด็กมีจำกัด ควรใช้ปริมาณยาตามคำแนะนำของแพทย์

การใช้ยา Trazodone

  • ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยาเกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • ควรรับประทานยาหลังมื้ออาหาร หากเป็นยาแบบออกฤทธิ์ทันที และหากเป็นยาแบบออกฤทธิ์นาน ควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่เคี้ยว ไม่ทำให้แตก และรับประทานยาตอนท้องว่าง
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น ไม่ควรสัมผัสแสงโดยตรง รวมถึงปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา ควรเก็บให้ไกลจากมือเด็ก และไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ
  • อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ และแจ้งแพทย์ให้ทราบหากไม่พบอาการที่ดีขึ้น รวมถึงไม่ควรหยุดใช้ยาเองอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Trazodone

ยา Trazodone อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในขณะใช้ยา เช่น ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว ท้องผูก ปากแห้ง เป็นต้น ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • อวัยวะเพศชายแข็งตัวนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดที่อวัยวะเพศในขณะแข็งตัว
  • อาการแพ้ยา เช่น หายใจลำบาก ผื่นคัน มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น ตาพร่ามัว ปวดตา ตาบวม
  • ปวดศีรษะร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นลม หัวใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ
  • อาการที่บ่งบอกว่าระดับเซโรโทนินในเลือดสูง เช่น มีไข้ ตื่นตระหนก เห็นภาพหลอน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีอาการเซ เป็นลม
  • อาการที่บ่งบอกว่าระดับโซเดียมในเลือดต่ำ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง สับสน พูดไม่ชัดหรือมีปัญหาในการพูด คลื่นไส้ มีอาการเซ
  • อาการของปฏิกิริยาของระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มีไข้สูง เหงื่อออกมาก รู้สึกสับสน มึนงง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ตัวสั่น