Synesthesia

ความหมาย Synesthesia

Synesthesia เป็นสภาวะการรับรู้ของสมองที่สามารถรับรู้ประสาทสัมผัส 2 อย่างในเวลาเดียวกันโดยอัตโนมัติ หากกระตุ้นประสาทสัมผัสหนึ่ง อีกประสาทสัมผัสหนึ่งจะถูกกระตุ้นไปด้วย เช่น การมองเห็นสีต่าง ๆ ขณะฟังเพลง การมองเห็นรูปร่างลักษณะกลมหรือเหลี่ยมขณะรับรสอาหาร เป็นต้น 

Synesthesia เป็นภาวะหนึ่งและไม่จัดว่าเป็นโรค ผู้ที่มีอาการนี้อาจมองว่าอาการที่เกิดขึ้นกับตนเองเป็นเพียงลักษณะของสัมผัสพิเศษอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อุปสรรคหรือข้อบกพร่องแต่อย่างใด ส่วนมากมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่จะถนัดซ้ายและมีความสนใจในด้านศิลปะหรือดนตรี บางกรณีอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเนื่องจากมักเกิดในผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยมีอาการนี้มาก่อน รวมทั้งอาจเกิดกับผู้ที่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทหรือผู้ที่มีอาการชักบางประเภทได้ 

synesthesia

อาการของ Synesthesia

โดยปกติแล้ว มนุษย์จะรับรู้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยสมองจะประมวลผลออกมาเป็นการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัส แต่ในกรณีของ Synesthesia จะเกิดการเชื่อมโยงในการรับประสาทสัมผัสของมนุษย์เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ที่มีภาวะ Synesthesia สามารถรับรู้ได้ 2 ช่องทางพร้อม ๆ กัน และยังสามารถแบ่งเป็นประเภทย่อยได้ถึง 60-80 ประเภท

ดังนั้น อาการที่พบจึงแตกต่างกันไปตามประเภทที่เกิดอาการ ซึ่งประเภทของ Synesthesia ที่พบได้มากที่สุดคือการเชื่อมโยงของการรับรู้ระหว่างตัวอักษรและสี (Grapheme-Color Synesthesia) และการเชื่อมโยงระหว่างสีกับการได้ยินเสียง (Chromesthesia) สำหรับประเภทอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น

  • มองเห็นหรือได้ยินเป็นคำขณะรับรสอาหาร
  • มองเห็นเป็นรูปร่างขณะรับรสอาหาร
  • ได้ยินเสียงขณะรับรสอาหาร
  • เห็นเป็นรูปร่างหรือรูปทรงขณะได้ยินเสียง
  • ได้ยินเสียงขณะดมกลิ่นบางกลิ่น
  • รู้สึกถึงสิ่งของในมือขณะได้ยินเสียง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการของ Synesthesia อาจมีอาการเพียงประเภทเดียวหรือหลายประเภทร่วมกันก็ได้ โดยอาการที่อาจพบได้ทั่วไปมีดังนี้

  • เป็นการรับรู้โดยไม่ได้ตั้งใจจากการข้ามประเภทของประสาทสัมผัส จึงไม่สามารถควบคุมการรับรู้ไม่ให้เกิดขึ้นได้
  • เป็นการรับรู้ที่มีอาการคงที่และคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประสาทสัมผัส 2 ส่วนมีอิทธิพลต่อกันและกัน เช่น เห็นตัวอักษรบางตัวเป็นสีแดงเสมอทุกครั้งและจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้เวลาจะผ่านไป เป็นต้น
  • มักเกิดขึ้นภายในความคิดเท่านั้น 
  • อาการที่มักเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่การรับรู้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เช่น ในวัยเด็กอาจเห็นตัวอักษรเป็นสีที่ยังไม่แน่นอน แต่เมื่อโตขึ้นอาจเห็นเป็นสีที่แน่ชัดมากขึ้น ฯลฯ
  • ผู้มีอาการสามารถอธิบายการรับรู้ที่แตกต่างให้ผู้อื่นเข้าใจได้

สาเหตุของ Synesthesia

Synesthesia เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในช่วงที่ยังเป็นเด็กเล็กจากการเชื่อมโยงของสมองส่วนการรับสัมผัส แต่ก็อาจเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในภายหลังเช่นกัน แม้สาเหตุจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สาเหตุที่เป็นไปได้ของ Synesthesia คือ มีการเชื่อมโยงการทำงานของระบบประสาทของสมอง 2 ส่วนที่ทำให้เกิดการรับรู้พร้อมกัน เช่น ในผู้มีอาการ Synesthesia ประเภทเชื่อมโยงการมองเห็นสีกับการรับรู้รสชาติ หากทดลองให้มองผนังห้องที่ทาสีเหลืองไว้ จะสามารถรับรู้รสชาติได้ในขณะที่กำลังมองผนังนั้น เนื่องจากสมองส่วนที่รับการมองเห็น (Primary Virsual Cortex) ที่อยู่บริเวณท้ายทอยจะถูกกระตุ้นและประมวลผลให้รับรู้ว่าผนังเป็นสีเหลือง ในขณะเดียวกัน สมองบริเวณขมับ (Parietal Lobe) ที่ทำหน้าที่รับรู้รสชาติก็จะถูกกระตุ้นและทำงานไปพร้อมกันด้วย ทำให้สามารถรับรู้ทั้งสีและรสชาติในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็น Synesthesia มาก่อน ก็อาจทำให้มีอาการ Synesthesia เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ในกรณีที่พบได้น้อย อาจพบอาการ Synesthesia ที่ขึ้นในภายหลังและเกิดอาการเพียงชั่วคราวได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การได้รับยาหรือสารบางประเภทอาจทำให้เกิดอาการ Synesthesia ได้ชั่วคราว อย่างยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอาจทำให้เกิดการเชื่อมต่อประสบการณ์การรับรู้เข้าด้วยกัน เช่น ยาเมสคาลีน (Mescaline) สารไซโลไซบิน (Psilocybin) และแอลเอสดี (Lysergic Acid Diethylamide) มีส่วนกระตุ้นการเกิด Synesthesia ได้ รวมถึงกัญชา แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน ก็อาจมีส่วนทำให้เกิด Synesthesia ได้เช่นกัน
  • การได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกในสมอง

การวินิจฉัย Synesthesia

Synesthesia ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงรายละเอียดในการวินิจฉัย เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาหรือวินิจฉัยในทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการ Synesthesia อาจใช้วิธีทดสอบด้วยตนเองเบื้องต้น ดังนี้

  • การทดสอบด้วยตนเองว่ามีอาการของ Synesthesia หรือไม่ เช่น หากมองดูตัวอักษรทีละตัวแล้วสังเกตว่าตนเองมองเป็นเห็นสีใดบ้าง จดลงในกระดาษแล้วทดสอบซ้ำอีกครั้งในอีก 1-2 ชั่วโมง หากมองเป็นตัวอักษรแต่ละตัวเป็นสีเดิม แสดงว่าอาจมีอาการของ Synesthesia หรือทดลองเปิดเพลงที่ไม่คุ้นเคยกับการฟัง หลับตาแล้วสังเกตตนเองว่าเห็นภาพเป็นสีใดในความคิดหรือสังเกตว่าทำนองเพลงที่ได้ยินมีสีที่แตกต่างกันหรือไม่ หากเห็นภาพเป็นสีได้อย่างชัดเจน ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็น Synesthesia
  • การทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อประเมินตนเองในกรณีที่มีการเชื่อมโยงของการรับรู้ที่บ่งบอกถึง Synesthesia 

หากมีอาการของ Synesthesia แล้วรู้สึกว่ากระทบกับการใช้ชีวิตหรือรู้สึกถึงสภาวะแปลกแยกจากผู้อื่น ควรปรึกษาแพทย์

การรักษา Synesthesia

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา Syneshesia และอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่ได้เกิดจากโรคหรือยา คนส่วนใหญ่ที่มีอาการกลับรู้สึกดีที่ได้รับรู้มุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่เกิดอาการ Synesthesia บางส่วนอาจเกิดสภาวะที่รู้สึกว่าตนเองแปลกแยกจากผู้อื่นและอาจมีปัญหาในการอธิบายการรับรู้ของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจ การได้พูดคุยกับกลุ่มคนที่มีอาการ Synesthesia เหมือนกันอาจช่วยลดความรู้สึกดังกล่าวลงได้

นอกจากนี้ การได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชอาจช่วยให้ผู้ที่มีอาการมองเห็นคุณค่าหรือข้อดีของ Synesthesia ได้ โดยปกติ คนทั่วไปมักจะถนัดการใช้สมองซีกซ้ายหรือขวาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการ Synesthesia หากสามารถค้นหาจุดสมดุลของตนเอง อาจสามารถทำสิ่งต่าง  ๆ ได้ตามความสนใจหรือความถนัดของตนเองได้เป็นอย่างดี

ภาวะแทรกซ้อนของ Synesthesia

ภาวะ Synesthesia ไม่พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น แต่ในบางกรณีอาจทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกรำคาญใจหรือสับสนได้ เนื่องจากมีผลกระทบกับการรับรู้ตามปกติ โดยในเด็กเล็กอาจมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ เช่น เมื่อเห็นตัวอักษรเป็นสีอาจจะทำให้การอ่านยากกว่าปกติ เป็นต้น 

การป้องกัน Synesthesia

Synesthesia เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงการรับรู้ทางประสาทสัมผัสเข้าด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือได้รับการถ่ายทอดจากพันธุกรรม จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่ชัด แต่ในกรณีที่อาการของ Synesthesia เกิดขึ้นในภายหลังจากการได้รับสารเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาจป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดดังกล่าว รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน