ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival Hemorrhage)

ความหมาย ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival Hemorrhage)

Subconjunctival Hemorrhage หรือภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่อยู่ระหว่างเยื่อบุตาและตาขาวฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกและเห็นได้ชัดว่าบริเวณตาขาวกลายเป็นสีแดง โดยอาจเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากการไอ จาม หรือขยี้ตาอย่างรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่แทบไม่รู้สึกตัวว่าเกิดอาการขึ้น แต่อาการนี้มักหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ และไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น

1782 Subconjunctival Hemorrhage rs

อาการของภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

อาการที่พบได้บ่อยของ Subconjunctival Hemorrhage คือ บริเวณตาขาวของผู้ป่วยจะกลายเป็นสีแดง และผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาพบว่ามีหย่อมสีแดงบริเวณตาขาว โดยเฉพาะภายใน 24 ชั่วโมงแรก แต่หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดขนาดบริเวณที่เป็นสีแดงลง และกลับสู่สภาพปกติ เพราะเลือดถูกดูดซึมไปแล้ว ส่วนบางรายอาจมีอาการระคายเคืองตาร่วมด้วย

แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมองดูน่ากลัวและรุนแรง แต่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและไม่กระทบต่อการมองเห็น เพราะเลือดที่ไหลออกมานั้นจะอยู่เฉพาะบริเวณใต้เยื่อบุตา ซึ่งเป็นชั้นเยื่อเมือกใสบาง ๆ ที่ปกคลุมตาขาวอยู่ และไม่ได้มีเลือดไหลออกจากตาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากเกิดอาการดังกล่าวแล้วมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • ปวดตา
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เห็นภาพซ้อน มองภาพไม่ชัด เป็นต้น
  • อาการไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์
  • เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา

สาเหตุของภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

ภาวะ Subconjunctival Hemorrhage นั้นเป็นอาการป่วยที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เพราะเส้นเลือดใต้เยื่อบุตาเป็นส่วนที่บอบบาง เปราะ และแตกได้ง่ายมาก โดยปัจจัยที่มักส่งผลให้เส้นเลือดในตาแตก มีดังนี้

  • การอาเจียนอย่างหนักหรือการเบ่ง
  • การไอหรือจามอย่างรุนแรง
  • การยกของที่มีน้ำหนักมาก
  • การขยี้ตาอย่างรุนแรง
  • การได้รับบาดเจ็บ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา

นอกจากนี้ อาการ Subconjunctival Hemorrhage อาจเกิดขึ้นได้ในผู้มีภาวะเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยาแก้ปวด หรือยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

แพทย์จะวินิจฉัยอาการ Subconjunctival Hemorrhage ด้วยการตรวจดูบริเวณดวงตาร่วมกับสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในด้านต่าง ๆ เช่น อาการบาดเจ็บต่าง ๆ ประวัติการรักษาและการใช้ยา โรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลต่อการเกิดภาวะนี้ และจะช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการได้ แต่หากภาวะ Subconjunctival Hemorrhage เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการใช้เครื่องมือชนิดพิเศษที่เรียกว่า Slit Lamp ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตรวจตาได้อย่างละเอียดและแม่นยำ

การรักษาภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

อาการของ Subconjunctival Hemorrhage นั้น มักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้น ดังนี้

  • อาจหยอดน้ำตาเทียมเมื่อรู้สึกระคายเคืองตา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบบางชนิดชั่วคราว เพราะยากลุ่มนี้อาจเพิ่มโอกาสในการมีเลือดออกมากขึ้น เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากภาวะ Subconjunctival Hemorrhage เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือมีอาการเลือดออกและบวมช้ำตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาจเกิดความเสียหายร้ายแรงบริเวณอื่น ๆ ของดวงตาได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นกัน ซึ่งแพทย์อาจปรับเปลี่ยนการใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

ผู้ป่วยภาวะ Subconjunctival Hemorrhage โดยปกติแล้วไม่ค่อยมีอาการป่วยหรือโรคแทรกซ้อนใด ๆ เพราะอาการมักหายได้เอง และไม่กระทบต่อการมองเห็น แต่หากภาวะนี้เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาหรือมีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดวงตาตามมาได้

การป้องกันภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา

ภาวะ Subconjunctival Hemorrhage อาจไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยหรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นเองด้วย แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ไม่ขยี้ตาอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดฝอยในดวงตา
  • โดยทั่วไปแล้ว หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ดวงตาจะมีกระบวนการขจัดสิ่งแปลกปลอมออกทางน้ำตา แต่อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกออกมาได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาทุกครั้งเมื่อต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา เช่น การทำงานในโรงงาน การขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือการทำงานที่ต้องใช้ค้อนตอก เพราะอาจมีเศษวัตถุกระเด็นเข้าตา เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือมีอาการบวมช้ำได้ง่าย ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ Subconjunctival Hemorrhage